หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมณีพร ขนฺติสาโร (ซึ่งรัมย์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๕ ครั้ง
ศึกษาอิทธิพลของประเพณีบุญเทศน์มหาชาติที่มีต่อพุทธศาสนิกชนอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
ชื่อผู้วิจัย : พระมณีพร ขนฺติสาโร (ซึ่งรัมย์) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  บรรพต แคไธสง
  ภัฏชวัชร์ สุขเสน
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง ศึกษาอิทธิพลของประเพณีบุญเทศน์มหาชาติที่มีต่อพุทธศาสนิกชนอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มีวัตถุประสงค์ ๓ อย่างคือ ๑)เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและความสำคัญของประเพณีเทศน์มหาชาติในพระพุทธศาสนา ๒)เพื่อศึกษารูปแบบประเพณีบุญเทศน์มหาชาติของ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ๓)เพื่อศึกษาอิทธิพลของประเพณีบุญเทศน์มหาชาติที่มีต่อพุทธศาสนิกชนอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่กำหนดขอบเขตของการศึกษาวิจัยเป็นด้านต่าง ๆ คือด้านเนื้อหายึดหลักการและทฤษฎีศึกษาจากพระไตรปิฎก และอรรถกถา หนังสือ ตำรา  และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ด้านทัศนะ ความเห็นและแนวทางการพัฒนาและการอนุรักษ์ประเพณีบุญเทศน์มหาชาติของพุทธศาสนิกชนอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์นั้น  เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลเป้าหมาย ๓๐ รูป/คน

ประวัติและความเป็นมาของประเพณีบุญเทศน์มหาชาติในสังคมไทย  มีประวัติและพัฒนาการที่เป็นการปฏิบัติยึดถือสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีตั้งแต่โบราณกาล และพัฒนามาเป็นประเพณี พิธีกรรมและวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นในหลายพื้นที่ของพุทธศาสนิกชนอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ปัจจุบัน  โดยประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมเหล่านั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา และมีการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นที่พูดภาษาถิ่นเป็นสำคัญ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ในแต่ละท้องถิ่นด้วย

รูปแบบประเพณีบุญเทศน์มหาชาติที่มีต่อพุทธศาสนิกชนอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มีอยู่  ๕ รูปแบบ คือ แบบเทศน์เดี่ยว  แบบ ๒ ธรรมาสน์  แบบ ๓ ธรรมาสน์  แบบผสมกับพระนักเทศน์แหล่ภาคกลาง  และแบบผสมระหว่างพระสงฆ์กับนักร้องลูกทุ่ง  ส่วนทำนองเทศน์นั้น โดยสรุปมีอยู่ ๓ ทำนองการเทศน์ทั่วไป  ทำนองเดิม  และทำนองแปลง  ส่วนสำนวนกลอนเทศน์นั้น ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีอยู่ ๒ สำนวน คือ สำนวนอีสาน จะมีเสียงสูง-ต่ำ มีความไพเราะอยู่ในตัว มีการเอื้อนเสียงมาก ต้องใช้เวลา  และสำนวนภาคกลาง ซึ่งจะกระชับเวลาเทศน์ได้

อิทธิพลของประเพณีบุญเทศน์มหาชาติที่มีต่อพุทธศาสนิกชน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์     มีกรอบการศึกษา ๓ ประเด็นดังนี้ คือ (๑) อิทธิพล ๗ ด้านที่มีต่อพุทธศาสนิกชนต่อประเพณีบุญเทศน์มหาชาติ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ (๒) คุณค่า และ ประโยชน์ของประเพณีบุญเทศน์มหาชาติ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ (๓) ค่านิยมของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อประเพณีบุญเทศน์มหาชาติ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ ช่วยป้องกันชื่อเสียง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างความเลื่อมใสศรัทธา จะต้องกระทำโดยผ่านการฝึกอบรมให้เข้าใจ ในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประกอบพิธีกรรม การตรวจสอบความถูกต้องของประเพณี พิธีกรรม วัฒนธรรม ประเพณี ของผู้รู้ ปราชญ์ท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็เป็นแนวทางพัฒนาและอนุรักษ์ที่น่าจะได้มีการวิจัยสืบไป

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕