หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เสริมสุข วิจารณ์สถิตย์
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๑ ครั้ง
การเปรียบเทียบกำเนิดมนุษย์ในพระพุทธศาสนาและสูติศาสตร์
ชื่อผู้วิจัย : เสริมสุข วิจารณ์สถิตย์ ข้อมูลวันที่ : ๐๕/๐๖/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติมุนี
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เล่มนี้ ศึกษาเรื่อง “การเปรียบเทียบกำเนิดมนุษย์ในพระพุทธศาสนากับ      สูติศาสตร์” มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ ๑. เพื่อศึกษาแนวคิดกำเนิดมนุษย์ในพระพุทธศาสนาและสูติศาสตร์ ๒. เพื่อเปรียบเทียบกำเนิดมนุษย์ในพระพุทธศาสนากับสูติศาสตร์

ผลการวิจัยพบว่า กำเนิดมนุษย์ในยุคแรกทางพระพุทธศาสนาซึ่งถือกำเนิดแบบโอปปาติกะนั้น เป็นสิ่งที่ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือพิสูจน์ได้โดยอุปกรณ์ แนวคิดกำเนิดมนุษย์ยุคถัดมา (ชลาพุชะ) ในเรื่องขององค์ประกอบของการเกิดในครรภ์ในพระพุทธศาสนา คือ บิดามารดาอยู่ร่วมกัน (ได้รับอสุจิจากบิดา) และมารดามีระดู โดยเมื่อนำความรู้ทางสูติศาสตร์มาอธิบายทำให้เข้าใจเนื้อความในพระไตรปิฎกและอรรกถาชัดเจนขึ้น สำหรับเรื่องของคันธัพพะ (ปฏิสนธิวิญญาณ) และเรื่องผลของกรรมจำแนกมนุษย์ให้แตกต่าง สูติศาสตร์ไม่ได้มีการศึกษาถึงประเด็นดังกล่าวนี้

 การเปรียบเทียบการนับอายุของมนุษย์ในครรภ์ หลักการนับอายุครรภ์ทางสูติศาสตร์ (Gestational age) เริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย แต่สำหรับอายุตัวอ่อนมนุษย์ (Fetal age) นั้นเริ่มนับเมื่อเกิดการปฏิสนธิของเซลล์ไข่และอสุจิ ทางพระพุทธศาสนาถือว่ากายมนุษย์เริ่มมีชีวิตในขณะที่เป็นกลละ (มีคันธัพพะเกิดแล้วในครรภ์มารดา) ซึ่งระยะเวลาของการตั้งครรภ์เมื่อครั้งพุทธกาลนั้นไม่แตกต่างจากสูติศาสตร์ คือประมาณ ๙ - ๑๐ เดือนทางจันทรคติ (Lunar Month)

การเปรียบเทียบประเด็นเรื่องบิดามารดาอยู่ร่วมกันครั้งเดียวมีเขตถึง ๗ วัน และประเด็นความหมายของระดูในพระไตรปิฎกและอรรถกถา อธิบายว่า เมื่อบิดามารดาอยู่ร่วมกันในช่วงที่มารดาเกิดมีระดูตั้งขึ้นในมดลูก หลังจากนั้นอีก ๗ วันจึงจะมีการตั้งครรภ์ อธิบายตามสูติศาสตร์คือ เมื่อบิดามารดาอยู่ร่วมกัน (ได้รับอสุจิจากบิดา) ในช่วงวันที่มีการตกไข่ เซลล์ไข่จึงผสมกับอสุจิและแบ่งตัวต่อไปเรื่อย ๆ อีก ๗ วันจึงจะเริ่มฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก จากนั้นจึงจะเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น โดยมีกลไกคือ ระดูที่เป็นเยื่อบุผนังมดลูกด้านในเริ่มสร้างขึ้นช่วงที่มีไข่ตกและหลังจากมีไข่ตกจะเจริญต่อไปอีกประมาณ ๗ วัน เพื่อรองรับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิ ซึ่งจะเป็นไซโกต และแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ ต่อมาเมื่อ เป็นบลาสโตซิสต์ (ประมาณวันที่ ๗ หลังจากไข่ผสมกับอสุจิ) จะฝังตัวที่ระดูหรือต่อมเลือดนั้น ขณะฝังตัวอาจทำให้เกิดเลือดเสียหรือเรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็กไหลออกไปเล็กน้อย จากนั้นการฝังตัวของบลาสโตซิสต์จะดำเนินต่อไปได้ เกิดการตั้งครรภ์ แต่หากว่าเลือดล้างหน้าเด็กไหลออกมากเกิน บลาสโตซิสต์ย่อมหลุดออกไปด้วยจึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ประเด็นเรื่องอสุจิในพระไตรปิฎก ๑๐ สี สามารถบอกการเจ็บป่วยของร่างกายได้ การเปรียบเทียบเรื่องกายมนุษย์เริ่มต้นที่เริ่มมีคันธัพพะหรือเรียกว่ากลละนั้น กลละ คือ ตัวอ่อนมนุษย์ในระยะฝังตัว เนื่องด้วยเหตุผลของการอยู่ในครรภ์ (มดลูก) ไม่ว่าจะสร้างตัวอ่อนมนุษย์ด้วยวิธีใดก็ตาม เช่น ปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือการโคลน หากไม่ย้ายตัวอ่อนที่สร้างขึ้นนั้นกลับเข้าโพรงมดลูกก็ไม่สามารถเจริญเป็นมนุษย์ได้เลย จึงเป็นข้อยืนยันการเกิดแบบชลาพุชะได้เป็นอย่างดี และปัจจัยสนับสนุนอีกประการคือ รูปร่างของกลละที่เข้าได้กับตัวอ่อนบลาสโตซิสต์ขณะฝังตัวที่คล้ายหยดน้ำใสเกาะที่เยื่อบุโพรงมดลูก ประเด็นกลละไม่ใช่ไซโกต เพราะไซโกตมีรูปร่างกลมตัน ไม่เหมือนหยดน้ำ และการแบ่งตัวของไซโกตจนเป็นบลาสโตซิสต์เกิดจากพลังงานในเซลล์นั้น ๆ ทำให้แบ่งตัวได้โดยไม่ต้องมีคันธัพพะ คล้ายคุณสมบัติเซลล์ไซโกตพืช

กำเนิดมนุษย์ในทางสูติศาสตร์เป็นการขจัดความสงสัยในทางวิชาการและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตทางกายภาพเป็นหลัก พระพุทธศาสนาเน้นเป้าหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ การศึกษากำเนิดมนุษย์ในทางพระพุทธศาสนานั้นทำให้เห็นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ซึ่งไม่มีอะไรใหม่ เกิดวนเวียนไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเห็นเช่นนี้ก็ควรน้อมนำคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาปฏิบัติ เพื่อเป็นหนทางที่จะไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕