หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมศักดิ์ ธีรวํโส (แหวนคำ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๒ ครั้ง
กระบวนการพัฒนาชุมชนเมืองและชนบทสู่ความยั่งยืน ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา (สาขาวิชาการพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมศักดิ์ ธีรวํโส (แหวนคำ) ข้อมูลวันที่ : ๐๔/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีรัตนบัณฑิต
  โกนิฏฐ์ ศรีทอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “กระบวนการพัฒนาชุมชนเมืองและชนบทสู่ความยั่งยืน ของอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาชุมชนเมืองและชนบท ในพื้นที่ของอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ๒) เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนเมืองและชนบทของเทศบาลตำบลเชียงคำและองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ๓) เพื่อวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของชุมชนในเทศบาลตำบลเชียงคำและองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำแวน ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

การวิจัยครั้งนี้วิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือ บุคลากรที่มีบทบาท หน้าที่ ของหน่วยงานภาครัฐและประชาชน ในพื้นที่เทศบาลตำบลเชียงคำ และองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๘ รูป/คน เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการพัฒนาและกระบวนการมีส่วนร่วม ปัญหา อุปสรรค ใน ๒ พื้นที่ ที่เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาชุมชนเมืองและชนบทสู่ความยั่งยืน ของอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาจากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อเชื่อมโยงให้ได้ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลการวิจัยพบว่า

๑. กระบวนการพัฒนาทำให้เกิดการพัฒนาระดับท้องถิ่น ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนในระดับรากหญ้ามากขึ้น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมมากขึ้น เกิดการพึ่งตนเอง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนในภาพรวมทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม มีความเข้มแข็งของชุมชนมากยิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมรวมพลังทำให้ชุมชนเมืองและชนบทมีความสงบ สะอาด ปลอดภัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี วิถีชีวิตดีมีความสุข เกิดการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นริเริ่มพัฒนาชุมชนเมืองและชนบทให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น เกิดการกระตุ้นให้ชุมชนได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินศักยภาพ ร่วมรับผลประโยชน์ ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ วางเป้าหมายกลยุทธ์ของกระบวนการการพัฒนา กำหนดแผนงานหรือกิจกรรม ตลอดจนติดตามประเมินผลบนพื้นฐานการพึ่งพาทรัพยากรของท้องถิ่นชุมชนเป็นหลัก โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา แนะนำ ถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนในระดับต่างๆจนนำไปสู่การพัฒนาชุมชนเมืองและชนบทไปสู่ความยั่งยืน

๒. การมีส่วนร่วมของชุมชนเมืองและชนบทชุมชนสามารถเรียนรู้ร่วมกันตามหลักการมีส่วนร่วม เกิดการรู้จักหวงแหนและมีหัวใจต่อการพัฒนาชุมชนตนเองมากขึ้น สามารถวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็ง มองอนาคตชุมชนไปสู่การแก้ไขโดยมีวัฒนธรรมของชุมชนเป็นตัวเชื่อมโยงสู่การพัฒนาในส่วนต่างๆ เกิดการเรียนรู้ปัญหาการแก้ไขปัญหาและการใช้ทุนของชุมชนที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยมีการจัดตั้งสภาชุมชนและคณะกรรมการบริหารชุมชนซึ่งเป็นเสมือนสัญญาประชาคมสามารถร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ มีการตัดสินใจร่วมกันของทุกฝ่าย จึงเกิดเป็นแผนแม่บทร่วมกันเพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชนร่วมกัน มีการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน มีการนำวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ร่วมกับวิถีสมัยเก่าของชุมชน เพื่อสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการเสริมสร้างพลังชุมชนร่วมกัน ในชุมชนของตนเองได้อย่างยั่งยืน     

๓. การวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาและกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเมืองและชนบทในเทศบาลตำบลเชียงคำและองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำแวน ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน พบว่าด้านกระบวนการพัฒนาและกระบวนการมีส่วนร่วมใน ๑. มิติทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจแบบพออยู่พอกิน พอประมาณและมั่งคงยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้พ้นจากความยากจนโดยมีอาชีพที่สุจริตโดยใช้ความเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมผสมผสานความทันสมัยแบบใหม่ๆแต่ยังรักษารากฐานความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพต่างๆและกลุ่มเกษตรกรจำนวนมากมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากความพยายามในการพลิกฟื้นของดีที่มีอยู่ในชุมชนให้คนภายนอกสัมผัสได้และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด เกิดชีวิตที่มีสุข พ้นจากความยากจน สามารถพึ่งตนเองได้ มีครอบครัวที่อบอุ่นและเป็นสุขตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มิติทางสังคมมีการสร้างแนวทางปฏิบัติร่วมกันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและหลักประกัน ความสมดุล ความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม แก้ปัญหาต่างๆของคนในชุมชนและวางแผนไว้เพื่ออนาคตป้องกันจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีการจัดลำดับความสำคัญนั้นของปัญหา ตรงจุดตามเป้าหมายที่ทุกฝ่ายเห็นว่าควรปรับปรุงแก้ไขพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ เกิดสังคมร่วมรับผิดชอบร่วมกันดำเนินงาน ร่วมกันคิด ร่วมลงมือปฏิบัติการ ร่วมในการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันในการติดตามและประเมินผลให้เกิดความยั่งยืน มิติทางวัฒนธรรม การจัดกิจกรรมการดำรงชีพตามวิถี ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน โดยมีวัดเป็นศูนย์รวมใจในกิจกรรมต่างๆ มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาของตนเอง เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชนส่วนหนึ่งเป็นการสืบทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมให้แก่คนรุ่นหลัง ทำให้เกิดการซึมซับทางวิถีวัฒนธรรมของตนเอง สร้างความผูกพันของคนในชุมชนเกิด มีผู้นำรุ่นเก่าถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมสู่ผู้นำรุ่นใหม่ เกิดการขยายเครือข่ายทางวัฒนธรรมเกิดผู้นำที่เป็นทางการ และผู้นำทีไม่เป็นทางการ รวมถึงผู้นำกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ให้มีบทบาทผู้นำเพื่อเป็นแบบอย่างให้สมาชิกชุมชนและกลุ่มเยาวชนได้ปฏิบัติตามในการนำวัฒนธรรมที่มีอยู่มาปรับประยุกต์ใช้ อย่างต่อเนืองแต่ยังรักษารากของวัฒนธรรมไว้อย่างลึกซึ้งและเข้าใจ มิติทางด้านสิ่งแวดล้อมการสร้างจิตสำนึกการตระหนักรู้ถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบการ ควบคุมมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนา ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเป็นการสร้างแนวปฏิบัติร่วมกันและความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนเพื่อเกิดการหวงแหนเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์โดยใช้วิถีชีวิตของคนในชุมชนมาเป็นตัวกำหนด เกิดการวางแผนการดำเนินการที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบริโภคและกระแสโลก เป็นการสร้างความสมดุลของสิ่งแวดล้อมในชุมชนนั้นๆเกิดคุณค่ามากที่สุดและยั่งยืนต่อไป

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕