หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูกัลยาณปริยัติกิจ (อำนาจ กลฺยาณธโร)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์การปฏิบัติกรรมฐานตามแนวของพระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูกัลยาณปริยัติกิจ (อำนาจ กลฺยาณธโร) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ปกรณ์ มหากันธา
  พระอธิการสมนึก จรโณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง ศึกษาวิเคราะห์การปฏิบัติกรรมฐานตามแนวของพระสุพรหมยานเถร                        (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก) มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาประวัติการปฏิบัติกรรมฐานของพระสุพรหมยานเถร ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การปฏิบัติกรรมฐานตามแนวของพระสุพรหมยานเถร ๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลการปฏิบัติกรรมฐานตามแนวของพระสุพรหมยานเถร การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการวิเคราะห์เอกสาร และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) จากผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายบรรพชิต คฤหัสถ์ จำนวน ๑๒ รูป/คน

 

             ผลการศึกษาพบว่า พระสุพรหมยานเถร เป็นพระนักปฏิบัติธรรม ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความมักน้อยสันโดษ มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจริยวัตรสำรวมเรียบร้อยสงบเสงี่ยม ถือธุดงค์เป็นวัตร ได้แก่ ๑) ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ๒) อยู่ป่าเป็นวัตร          ๓) บิณฑบาตเป็นวัตร และ ๔) นอนในที่มุงบังเป็นวัตร

 

              ผลการวิเคราะห์การปฏิบัติกรรมฐานตามแนวของพระสุพรหมยานเถร พบว่า ใช้วิธีการสอนแบบสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ด้านสมถกรรมฐานใช้วิธีการเจริญพุทธานุสติ โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออกภาวนาพุท โธ พอง ยุง และการนับลูกประคำ ด้านวิปัสสนากรรมฐาน กำหนดอภิณหปัจเวกขณะเป็นอารมณ์กรรมฐาน และพิจารณาสังขารรูปนามให้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยึดแนวสติปัฎฐาน ๔ เพ่งรูปนามเฉพาะหน้าเป็นอารมณ์ปัจจุบัน

 

             อิทธิพลการปฏิบัติกรรมฐานตามแนวของพระสุพรหมยานเถร พบว่า ด้านการศึกษาของสงฆ์ พระสุพรหมยานเถร เปิดสอนธรรมศึกษา พุทธศาสนาวันอาทิตย์ จัดตั้งสำนักเรียนนักธรรม จัดตั้งสำนักเรียนบาลี จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมพรหมจักรสังวรกิตติขจรประชาสรรค์ เพื่อส่งเสริมการศึกษาสงเคราะห์ทั้งพระภิกษุ สามเณร และนักเรียน มีลูกศิษย์ที่จบจากสำนักเรียนวัดพระบาทตากผ้าเป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการ ช่วยงานคณะสงฆ์หลายรูป ส่วนคฤหัสถ์รับราชการ เป็นคนดีของสังคมช่วยทำอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา

 

              ด้านการเพิ่มศักยภาพวัดเป็นแหล่งปฏิบัติธรรม มีการแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันพระ แต่งหนังสือธรรม บรรยายธรรม เขียนบทความ ปกิณกะเทศนา ส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรที่มีความรู้ความสามารถออกเผยแผ่ธรรมตามวัด โรงเรียน หมู่บ้าน และสถานีวิทยุ พัฒนาวัดให้โดดด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติธรรมด้วยการบรรพชา อุปสมบท บวชชีพราหมณ์

 

              ด้านการส่งเสริมงานสาธารณะสงเคราะห์ ภายในวัดสร้างกุฏิ วิหาร อุโบสถ ศาลาการเปรียญ และสงเคราะห์จัดหาทุนทรัพย์ช่วยเหลือในการก่อสร้างสาธารณวัตถุได้แก่ วัด กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ และโรงเรียนต่างๆ ที่มาขอความช่วยเหลือ จัดทำน้ำประปา บาดาล และไฟฟ้า หมู่บ้านพระบาทตากผ้า

 

              ด้านการดำเนินชีวิต สอนให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท มีความเมตตากรุณาต่อกัน มีความเคร่งครัดในศีลวัต มีความสันโดษ อนุเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งด้านความเป็นอยู่             และการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ตลอดจนการสงเคราะห์คนยากจน และงานสาธารณกุศล สงเคราะห์

         

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕