หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวิเศษ กนฺตธมฺโม (มั่งคั่ง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๗ ครั้ง
บทบาทผู้นำฝ่ายปกครองในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในชุมชน อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวิเศษ กนฺตธมฺโม (มั่งคั่ง) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ธิติวุฒิ หมั่นมี
  เกียรติศักดิ์ สุขเหลือง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้วัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาบทบาทผู้นำฝ่ายปกครองในการจัดการปัญหา

ความขัดแย้งในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อบทบาทผู้นำฝ่ายปกครองในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างบทบาทผู้นำฝ่ายปกครองในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี การวิจัยเป็นแบบผสานวิธี ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๘๘๘ กลุ่มตัวอย่างคือประชาชนในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จำนวน ๓๙๘ คนโดยสุ่มตัวอย่างจากประชากรทั้งหมด ๗๘,๑๗๒ คน คำนวณจากสูตรทาโร่ยามาเน่สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการทดสอบค่าเอฟ (F-test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามปลายเปิด วิเคราะห์โดยการพรรณนาแจกแจงความถี่ประกอบตาราง และการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๒ คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิควิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา

 

ผลการวิจัยพบว่า

๑) บทบาทผู้นำฝ่ายปกครองในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรีโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๔.๐๘, S.D. = ๐.๔๑๔) เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน ตามลำดับค่าเฉลี่ย คือ ด้านการหลีกเลี่ยง ( = ๔.๑๑, S.D. = ๐.๔๗๘) ด้านการปรองดอง ( = ๔.๑๐, S.D. = ๐.๔๗๙) ด้านการร่วมมือ ( = ๔.๑๐, S.D. = ๐.๔๗๒) ด้านการประนีประนอม ( = ๔.๐๗, S.D. = ๐.๔๖๗) และด้านการบังคับ ( = ๔.๐๔, S.D. = ๐.๕๒๙)

๒) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อบทบาทผู้นำฝ่ายปกครองในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ประชาชนที่มีเพศต่างกัน มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย ส่วนประชาชนที่มี อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างกัน มีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย

๓) ปัญหา อุปสรรคบทบาทผู้นำฝ่ายปกครองในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรีพบว่า ผู้นำบางท่านอยู่ใต้บารมีของผู้มีอำนาจในท้องถิ่น พอมีปัญหาเกิดขึ้นจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ประชาชนไม่ฟังเหตุผลต่างคนต่างกระทบกันและโทษที่จะได้รับตามกฎหมายก็ตามมา และมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายคนละข้างกันจึงทำให้ปัญหาต่างๆบานปลายเพราะคนรอบข้างคอยส่งเสริมทำให้ชุมชนแตกแยกกัน ตลอดจนถึงการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบธรรม และผู้นำบางท่าน   ไม่ออกมาทำงานอย่างเต็มที่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ข้อเสนอแนะคือ ผู้นำต้องมีความเป็นกลางของทุกๆ ปัญหา ควรใช้ผู้ใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายหรือกลุ่มคนที่นับถือ มาช่วยเป็นกลางเพื่อแก้ไข ทุกคนต้องใช้เหตุผลในการลดปัญหาความขัดแย้ง ควรหากิจกรรมให้ทำร่วมกันในด้านความสามัคคีกลมเกลียวรักกันในชุมชนให้มีบ่อยๆขึ้น เพราะถ้ามีการร่วมมือทำกิจกรรมร่วมกันก็จะซึมซับไปเรื่อยๆแล้วชุมชนก็จะรักกัน

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕