หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ผุสดี รุ่งเรืองผดุง
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๗ ครั้ง
การพัฒนาหลักสัปปายะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (สาขาวิชาสันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : ผุสดี รุ่งเรืองผดุง ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร)
  พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาบริบท สภาพปัญหา อุปสรรคและแนวทางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  (๒) เพื่อศึกษาหลักสัปปายะในพระพุทธศาสนาเถรวาท  (๓) เพื่อพัฒนาหลักสัปปายะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเน้นการวิจัยเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและด้านพระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลการศึกษาวิจัย พบว่า

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทควรมีการพัฒนาทั้งสันติภายในหรือสิ่งแวดล้อมด้านจิตใจ หมายถึง สิ่งแวดล้อมภายในที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดความความรู้สึกนึกคิดหรือพฤติกรรม และสันติภายนอก คือ เรื่องของระบบโครงสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยหรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วยวัตถุสิ่งของที่อยู่รอบกายเรา สิ่งแวดล้อมด้านสังคม หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่เป็นความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างผู้คน อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก สามารถส่งผลต่อทัศนคติ จิตสำนึกและพฤติกรรมของผู้คน (สิ่งแวดล้อมภายใน) ได้

หลักสัปปายะ ๗ ได้แก่ (๑) อาวาสสัปปายะ คือ ที่อยู่อาศัย หรือ วัด ราวป่า โคนต้นไม้ สำนักปฏิบัติธรรม กุฏิสงฆ์ อาราม เรือนว่างอันเป็นที่สบาย สงบ  (๒) โคจรสัปปายะ คือ ทางเดิน ถนนหนทางไปมาได้สะดวก ไม่ใกล้ ไม่ไกลนัก หนทางในการบิณฑบาตไม่ลำบากนัก อีกทั้งภายในสถานที่ก็ควรมีทางเดินจงกรมที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรม (๓) ภัสสสัปปายะ คือ การสนทนา พูดคุย  การฟัง คือ การสนทนา พูดคุยกันแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติ ได้ฟังสิ่งที่จะทำให้จิตใจเกิดศรัทธา วิริยะ อุสาหะ ความสงบระงับในการที่จะทำความเพียรให้ก้าวหน้า (๔) ปุคคลสัปปายะ คือ บุคคลที่อยู่ร่วมกัน บุคคลที่ติดต่อคบหา ควรเป็นผู้ตั้งมั่นในศีลธรรม มีความสันโดษ มักน้อย ชักจูงแนะนำไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเพียร (๕) โภชนสัปปายะ คือ อาหารที่บริโภค ควรเป็นอาหารที่สบายต่อความเป็นอยู่ในอัตภาพแห่งตน เมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว ไม่ทำให้เกิดทุกขเวทนา (๖) อุตุสัปปายะ คือ ฤดูอันเป็นที่สบาย  ความร้อน ความเย็น ของอากาศตามฤดูกาล ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวจัดเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยแก่ร่างกาย     (๗) อิริยาปถสัปปายะ คือ อิริยาบถอันเป็นที่สบาย การเคลื่อนไหว  ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดที่ทำให้จิตไม่สงบระงับ ก็แสดงว่าอิริยาบถนั้นไม่สบายไม่เหมาะสม จึงเว้นเสียจากการใช้อิริยาบถนั้น หากเมื่อจำเป็นก็ใช้แต่น้อย

การพัฒนาหลักสัปปายะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ เพื่อเกื้อหนุนให้การไกล่เกลี่ยบรรลุเป้าหมาย ด้วยความพอใจของทุกฝ่าย ได้แก่      (๑) อาวาสสัปปายะ อาคารสถานที่ ห้องไกล่เกลี่ยสะอาด เหมาะสมและเพียงพอกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  (๒) โคจรสัปปายะ การเดินทางไปมาสะดวก มีป้ายบอกทางชัดเจน วางผังอาคารอย่างเป็นระบบ  (๓) ภัสสสัปปายะ มีระบบขั้นตอนในการสื่อสารสนทนาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน การได้รับคำแนะนำที่ดีจากผู้ไกล่เกลี่ย                 (๔) ปุคคลสัปปายะ ผู้ไกล่เกลี่ยต้องมีความรู้ ความสามารถ เทคนิค ประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทำให้ข้อพิพาทยุติได้ และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีของทุกฝ่ายไว้ได้ (๕) โภชนสัปปายะ จัดอาหารหรือเครื่องดื่มที่เหมาะสม บริการในระหว่างการไกล่เกลี่ย  (๖) อุตุสัปปายะ การควบคุมอุณหภูมิ ระบบระบายอากาศ แสงสว่าง สีภายในห้องไกล่เกลี่ย และไม่มีเสียงรบกวนระหว่างการไกล่เกลี่ย ๗) อิริยาปถสัปปายะ การวางตัวของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเหมาะสมกับกาลเทศะและจรรยาบรรณวิชาชีพ  การจัดที่นั่งในการ         ไกล่เกลี่ยเหมาะสมสะดวกต่อการเคลื่อนไหว    

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕