หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สมบัติ วงศ์กำแหง
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๕ ครั้ง
กระบวนการสร้างนิติกรชุมชนต้นแบบเพื่อเสริมสร้างตำบลสันติสุข : ศึกษากรณีตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ (สาขาวิชาสันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : สมบัติ วงศ์กำแหง ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร)
  พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

 

การวิจัยเรื่อง กระบวนการสร้างนิติกรชุมชนต้นแบบเพื่อเสริมสร้างตำบลสันติสุข: ศึกษากรณีตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาบริบท และสภาพปัญหาการใช้กฎหมายเพื่อเสริมสร้างสันติสุขของตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ๒) ศึกษาหลักการ แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับนิติกรชุมชนในวิทยาการสมัยใหม่และในทางพระพุทธศาสนาเถรวาท และ ๓) เสนอกระบวนการสร้างนิติกรชุมชนต้นแบบเพื่อเสริมสร้างตำบลสันติสุขของตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นการวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เก็บข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Research) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้นำชุมชน จำนวน ๒๐ ท่าน และการสนทนากลุ่มเฉพาะ (Focus Group) ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน ๘ ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสนทนากลุ่ม และแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา  

             ผลการวิจัย พบว่า

             ๑. ผลการศึกษาบริบทและสภาพการใช้กฎหมายในตำบลสวาย พบว่า ๑) มีปัญหาความขัดแย้งด้านกฎหมาย ๒) ชาวบ้านถูกหลอกให้กู้เงินนอกระบบ ๓) ถูกเอารัดเอาเปรียบ คิดดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ๔) เอาโฉนดของชาวบ้านไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันกู้ยืมเงินจากธนาคาร ๕) ปัญหาที่ดินทำกิน ที่ดิน สปก., การรุกล้ำที่สาธารณะ, การแจ้งสิทธิที่ดิน การจำหน่ายจ่ายโอนที่ดิน สปก.มรดก, ๖) ปัญหามรดกไม่มีพินัยกรรม, ๗) ปัญหาบุกรุกแนวเขตที่ดินบุคคลอื่น, ๘) ปัญหาโค กระบือเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่น, ๙) ปัญหายาเสพติดในชุมชน, ๑๐) การทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น  

             ๒. ผลการศึกษาหลักการ แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับนิติกรชุมชนในวิทยาการสมัยใหม่และในทางพระพุทธศาสนาเถรวาทมีดังนี้

                 ๒.๑ แนวคิดวิทยาการสมัยใหม่มีหลักการ แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนานิติกรชุมชนดังนี้ ๑) แนวคิดความสมานฉันท์ ๒) แนวคิดยุติธรรมชุมชน ๓) แนวคิดทักษะการใช้กฎหมาย ๔) แนวคิดการแก้ไขความขัดแย้งในชุมชน (๕) แนวคิดการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท (๖) แนวคิดจิตอาสาหรือจิตสาธารณะ และ (๗) หลักการพัฒนามนุษย์ตามหลักสากล คือ การสร้างวิสัยทัศน์(Vision) การศึกษา (Education) การอบรม (Training) และการศึกษาดูงาน(Study Tour)

                 ๒.๒ ในแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเถรวาทมีหลักการ แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนานิติกรดังนี้ ๑) ในสมัยพุทธกาล พบว่า มีการแต่งตั้งพระวินัยธร เพื่อการแก้ไขปัญหาหรือระงับอธิกรณ์และใช้อธิกรณสมถะวิธี ๗ ดังนี้ (๑) สัมมุขาวินัย วิธีระงับในที่พร้อมหน้า (๒) สติวินัย วิธีระงับโดยถือเอาสติเป็นหลัก (๓) อมูฬหวินัย วิธีระงับสำหรับผู้หายจากเป็นบ้า (๔) ปฏิญญาตกรณะ การทำตามที่รับ (๕) ตัสสปาปิยสิกา การตัดสินลงโทษแก่ผู้กระทำผิดที่ไม่รับผิด (๖) เยภุยยสิกา การตัดสินตามเสียงของคนข้างมาก (๗) ติณวัตถารกวินัย วิธีดุจกลบไว้ด้วยหญ้า (ประนีประนอม) ๒) หลักธรรมสำหรับนิติกรชุมชนต้นแบบ ได้แก่ หลักศีล ๕, หลักสิกขา ๓, พรหมวิหาร ๔, สังคหวัตถุ ๔, อิทธิบาท ๔ อคติ ๔, และ สัปปุริสธรรม ๗,

                 ๓. กระบวนการสร้างนิติกรชุมชนต้นแบบเพื่อเสริมสร้างสันติสุข ที่ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มีดังนี้

                   ๑) กระบวนการพัฒนานักจิตอาสาพัฒนาสันติ ต้องมีจิตอาสา เสียสละ มีแนวคิดพัฒนาชุมชนให้ความสันติ โดยการสร้าองค์ความรู้ ทัศนคติ ทักษะ มีเครือข่าย และมีสติ ขันติ สันติในการเป็นนักจิตอาสา ได้แก่ ๑) มีจิตอาสา ๒) มีเมตตา กรุณา ๓) มีศีลธรรม ๔) มีสันติภายใน 

                  ๒) กระบวนการพัฒนานักประสานสมานไมตรี ต้องเป็นนักเยียวยาทางจิตใจ (Healing) โดยการสร้าองค์ความรู้ ทัศนคติ ทักษะ มีเครือข่าย และมีสติ มีขันติ มีสันติในการประสานไมตรี ได้แก่ ๑) มีวิสัยทัศน์ร่วม ๒) รู้จักสื่อสาร ๓) เสริมสร้างกันและกัน ๔) เกื้อหนุนพึ่งพากัน   

                  ๓) กระบวนการพัฒนานักไกล่เกลี่ย ผู้ทำหน้าที่เป็นกลาง มีกฎเกณฑ์กติกา มีทักษะมุ่งสันติ โดยการสร้าองค์ความรู้ ทัศนคติ ทักษะ มีเครือข่าย และมีสติ มีขันติ มีสันติในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้แก่ ๑) ทักษะสันติ ๒) ทักษะการฟังและการพูด ๓) ทักษะการไกล่เกลี่ย ๔) ทักษะการบันทึก

                  ๔) กระบวนการพัฒนานักกฎหมาย ต้องมีความรู้ด้านกฎหมายและเข้าใจการอยู่ด้วยกัน โดยการสร้าองค์ความรู้ ทัศนคติ ทักษะ มีเครือข่าย และมีสติ มีขันติ มีสันติในการเป็นนักกฎหมายชุมชน ได้แก่ ๑) รู้บริบทชุมชน ๒) รู้กฎหมาย ๓) รู้รักสามัคคี ๔) รู้รักสันติสุข

             ๔. ผลการนำกระบวนการพัฒนานิติกรชุมชนต้นแบบไปฝึกอบรม ที่ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มีขั้นตอนดังนี้ ๑) ขั้นเตรียมการ/ กำหนดหลักสูตรฝึกอบรมนิติกรชุมชนต้นแบบ ๒) ขั้นดำเนินการฝึกอบรม ๓) ขั้นฝึกปฏิบัติ ใช้เทคนิคการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ๔) ขั้นฝึกทักษะในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ๕) ขั้นการนำความรู้จากการอบรมไปทดลองปฏิบัติจริงในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ๔ เรื่อง คือ เรื่องกรณีพิพาทระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เรื่องกรณียืมโฉนดที่ดินไปค้ำประกัน เรื่องกรณีการแบ่งทรัพย์สิน และเรื่องพ่อตาเข้าใจผิดลูกเขย ๖) ขั้นการประเมินผลผู้เข้ารับการอบรมทั้งก่อนและหลังการอบรม พบว่า ก่อนเข้ารับการอบรม ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจอยู่ในระดับปานกลาง แต่หลังเข้ารับการอบรม พบว่า ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจอยู่ในระดับมาก โดยภาพรวมทุกด้าน พบว่า ผู้เข้าร่วมอบรมมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก  

                   จากกระบวนการพัฒนานิติกรชุมชนต้นแบบดังกล่าว ทำให้ได้ นิติกรชุมชนต้อนแบบ ของตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕