หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูไพบูลเจติยาภิรักษ์ (ธตมโล/บุญแก้ว)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๘ ครั้ง
หลักพุทธธรรมกับชุมชนวิถีพุทธตามแนวชายแดน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ชื่อผู้วิจัย : พระครูไพบูลเจติยาภิรักษ์ (ธตมโล/บุญแก้ว) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สุเทพ สารบรรณ
  แสวง แสนบุตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

 

การวิจัย เรื่อง หลักพุทธธรรมกับชุมชนวิถีพุทธตามแนวชายแดน อำเภอเชียงแสน                  จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพชุมชนวิถีพุทธ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ๒) เพื่อศึกษาพุทธธรรมกับชุมชนวิถีพุทธ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และ             ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์พุทธธรรมไปใช้ในชุมชนวิถีพุทธตามแนวชายแดน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

          วิธีการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และมีการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview) ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากบุคคลผู้ให้ข้อมูลสำคัญ รวมทั้งการสนทนากลุ่ม (Focus Group) โดยแบบสนทนากลุ่มเฉพาะ (Focus group Discussion) เพื่อให้ได้ข้อมูลตามประเด็นที่ต้องการ แล้วนำมาวิเคราะห์โดยจับประเด็นหลักของเรื่อง (Traits) และแยกออกเป็นประเด็น ซึ่งจะได้นำเสนอแบบพรรณนาเชิงวิเคราะห์ (Analytical Description)

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้ให้ข้อมูลเชิงลึก ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้                    แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มที่ ๑ บ้านสบรวก หมู่ที่ ๑ จำนวน ๑๐ คน แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มย่อย ได้แก่ หน่วยงานราชการภาครัฐ จำนวน ๒ คน ผู้นำชุมชน และเจ้าอาวาส จำนวน ๒ รูป/คน และประชาชน ผู้ทำบุญ และผู้ปฏิบัติธรรม จำนวน ๖ คน กลุ่มที่ ๒ บ้านวังลาว หมู่ที่ ๔ จำนวน ๑๐ คน แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มย่อย ได้แก่ หน่วยงานราชการภาครัฐ จำนวน ๒ คน ผู้นำชุมชน และเจ้าอาวาส จำนวน ๒                           รูป/คน และประชาชน ผู้ทำบุญ และผู้ปฏิบัติธรรม จำนวน ๖ คน กลุ่มที่ ๓ บ้านห้วยเกี๋ยง หมู่ที่ ๘ จำนวน ๑๐ คน แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มย่อยได้แก่ หน่วยงานราชการภาครัฐ จำนวน ๒ คน ผู้นำชุมชนและเจ้าอาวาส จำนวน ๒ รูป/คน และประชาชน ผู้ทำบุญ และผู้ปฏิบัติธรรม จำนวน ๖ คน และผู้ให้ข้อมูลสนทนากลุ่ม โดยใช้วิธีการสุ่มแบบง่ายจากผู้ให้ข้อมูลเชิงลึก จำนวน ๑๐ คน

สภาพชุมชนวิถีพุทธ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พบว่า ทั้ง ๓ หมู่บ้าน มีสภาพชุมชนวิถีพุทธ กล่าวคือนอกจากจะมีประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรม ที่สามารถสืบค้นได้แล้ว ยังมีวิถีชีวิตตามแนวชายแดนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละชุมชน ศาสนา ระบบความเชื่อเดิมตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษส่งผลต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ มีความหล่อหลอมทางด้านวัฒนธรรม                    และประเพณีทำให้มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งศาสนามีส่วนทำให้เกิดกระบวนการกลมกลืนทางด้านวัฒนธรรมที่ไม่มีความบาดหมางกัน ส่งผลให้เกิดคุณค่าด้านจิตใจของคนในชุมชน ซึ่งจะเห็นได้ว่า                ทั้ง ๓ หมู่บ้าน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ได้ทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นประจำ สนับสนุนให้ลูกหลานบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน นอกจากนี้วัดยังเป็นที่พึ่งทางจิตใจ และเป็นศูนย์กลาง เป็นสถานที่พบปะ ประชุม พูดคุยกัน จะเห็นได้ว่ามีสภาพชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการพึ่งพาอาศัยกัน มีขนบธรรมเนียม ประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน รักความเรียบง่าย รักสงบ ยึดหลักความพอดี มีความรักใคร่ สามัคคีกัน มีความเป็นเอกภาพในสังคม จึงทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

แนวทางการประยุกต์พุทธธรรมไปใช้ในชุมชนวิถีพุทธตามแนวชายแดน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พบว่า ทั้ง ๓ หมู่บ้าน ได้นำหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ และสังคหวัตถุ ๔ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความสุขทั้งต่อตนเอง และบุคคลอื่น เช่น บุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้แก่ การให้ทาน (ทานมัย) การรักษาศีล (ศีลมัย) บุญสำเร็จด้วยการพัฒนาจิตใจ (ภาวนามัย) และสังคหวัตถุ ๔ ได้แก่ การเอื้อเฟื้อไม่ตระหนี่ถี่เหนียว (ทาน) การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะสุภาพ (ปิยวาจา)  การประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น (อัตถจริยา) และการเป็นผู้วางตนเหมาะสม (สมานัตตตา) เป็นต้น

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕