หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปราบศึก อุทโย (วิจิตรศักดิ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๑ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์การเกิดเป็นมนุษย์ตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนา (สาขาวิชาพระไตรปิฏกศีกษา)
ชื่อผู้วิจัย : พระปราบศึก อุทโย (วิจิตรศักดิ์) ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  -
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

วิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์การเกิดเป็นมนุษย์ตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนา”        มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาโครงสร้าง เนื้อหาของพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับการเกิด ๒) เพื่อศึกษาการเกิดตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๓) เพื่อวิเคราะห์การเกิดตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนา   โดยศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเกิดตาม ปาราชิกข้อที่ ๓ มหานิทานสูตร มหาตัณหาสังขยสูตร และ  อินทกสูตร จากข้อมูลทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกา รวมถึงเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องเป็นการศึกษาวิจัยเอกสาร (documentary research) มีวิธีการวิจัย คือ การรวบรวมเอกสารชั้นปฐมภูมิ (Primary Source) เอกสารอ้างอิงทางพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และเอกสารวรรณกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิเคราะห์การเกิดรวบรวมเอกสารชั้นทุติยภูมิ (Secondary Source) ได้แก่ หนังสือ งานวิจัย เอกสาร วารสารที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษา พบว่า

โครงสร้างเนื้อหาของปาราชิกข้อที่ ๓ จากการศึกษาค้นคว้าโครงสร้างเนื้อหาของปาราชิกข้อที่ ๓ ว่าด้วยการพรากชีวิตมนุษย์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการมีเจตนาในการฆ่า หากไม่มีเจตนาในการฆ่าก็ไม่ถือว่าเป็นปาราชิก โครงสร้างประกอบด้วย เรื่องต้นบัญญัติเป็นเรื่องเกี่ยวกับมูลเหตุในการฆ่า ทรงตั้งสิกขาบทบัญญัติเป็นสิกขาบทและอนุบัญญัติ กรอบของการฆ่า และเรื่องราวเกี่ยวกับพระวินัยปิฎกกล่าวเป็นเบื้องต้นเพื่อให้เห็นพัฒนาการของการเกิดขึ้นมาของพระวินัย  ตามหลักฐานข้อมูลใน    พระวินัยปิฎกนั้นก็คือธรรมปาพจน์ที่ประมวลพุทธบัญญัติเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตและวิธีดำเนินกิจการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์โครงสร้างมหานิทานสูตร ได้แก่ พระสูตรที่ตรัสถึงการเกิด เพราะการเกิดเป็นมนุษย์ตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนา ในประเด็นเรื่องคำสอนเรื่องการเกิดที่ปรากฏในมหานิทานสูตร ซึ่งมหานิทานสูตรนั้นเป็นพระสูตรที่ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่มที่ ๑๐ ซึ่งมหานิทานสูตรนี้ถือว่าเป็นอีกพระสูตรหนึ่งที่มีหลักคำสอนเรื่องการเกิดปรากฏอยู่โดยคำสอนเรื่องการเกิดในมุมมองของมหานิทานสูตรนั้นเป็นคำอธิบายการเกิดในหลักของเหตุผลหรือเหตุปัจจัย โดยเหตุปัจจัยนั้นก็คือหลักปฏิจจสมุปบาทนั่น    ซึ่งมีมูลเหตุ หลักธรรม การบัญญัติอัตตา อนัตตา วิญญาณ และวิโมกข์ ที่ปรากฏในมหานิทานสูตร ขยายออกเป็นความหมายของการเกิด และกระบวนการเกิดโครงสร้างมหาตัณหาสังขยสูตรเป็น    พระสูตรที่กล่าวถึงการแก้ไขความเข้าใจผิดของพระสาติ โครงสร้างของมหาตัณหาสังขยสูตร เป็นพระสูตรที่แก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง มีโครงสร้าง ๒ ประการ คือ ๑) โครงสร้างเกี่ยวกับบุคคล ๒) โครงสร้างเกี่ยวกับหลักธรรม และการแก้ไขปัญหาความเห็นของพระสาติด้วยหลักการ ๕ ประการ คือ (๑) เรื่องวิญญาณ (๒) คำสอนเกี่ยวกับขันธ์ ๕ (๓) คำสอนเกี่ยวกับอาหาร ๔ ประเภทที่หล่อเลี้ยงขันธ์ ๕      (๔) คำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท และ (๕) คำสอนเรื่องการเกิดโครงสร้างเนื้อหาของอินทกสูตร ได้แก่ พระสูตรที่อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ สังยุตนิกาย สคาถาวรรค โดยพระไตรปิฎกเล่มนี้จัดเป็นสังยุตโดยอินทกสูตรจะปรากฏอยู่ในยักขสังยุต  ซึ่งคำว่ายักขสังยุตนั้นแปลว่า  ประมวลเรื่องยักษ์  หมายถึงประมวลพระสูตรที่เกี่ยวกับยักษ์เข้าไปสนทนาธรรมกับพระผู้มีพระภาค  ไม่จัดแบ่งเป็นวรรค          มีทั้งหมด  ๑๒  สูตร  ชื่อพระสูตรแต่ละสูตรตั้งตามชื่อบุคคลคือยักษ์ที่ปรากฏในพระสูตรนั้นๆ

การเกิดในปาราชิกข้อที่ ๓ มหานิทานสูตร มหาตัณหาสังขยสูตร และอินทกสูตร        จากการศึกษาพบว่าการเกิดเป็นมนุษย์ในปาราชิก นั้นมีองค์ประกอบของการเกิดอยู่ ๓ ส่วน คือ           ๑) จิตดวงแรกหรือปฏิสนธิจิต ๒) อรูปขันธ์ ๓ ได้แก่ สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับจิตหรือปฏิสนธิพร้อมกับจิต ๓) กลละรูป หมายถึง รูปที่เป็นหยาดน้ำใสที่จะพัฒนามาเป็นมนุษย์ในภายหลังการเกิดในมหานิทานสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ เกี่ยวกับกระบวนการเกิดว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี กล่าวได้ว่าในมหานิทานสูตรระบุว่าการเกิดเริ่มต้นจากการที่มี วิญญาณจุติการเกิดในมหาตัณหาสังขยสูตร สำหรับคำสอนเรื่องการเกิดในมหาตัณหาสังขยสูตร พระองค์ทรงแสดงว่าองค์ประกอบที่ทำให้สัตว์เกิดในครรภ์มี ๓ ประการ ๑) บิดามารดาอยู่ร่วมกัน    ๒) มารดามีระดู ๓) มีคันธัพพะมาเกิด  เพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกันอย่างนี้ การถือกำเนิดในครรภ์จึงมีได้การเกิดในอินทกสูตร การเกิดในอินทกสูตรเป็นแนวคิดที่ละเอียด กล่าวถึงพัฒนาการของของการเกิดเป็นมนุษย์ในครรภ์มารดา เป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่กลละ (ลักษณะกลมใส ขนาดเท่าหยดน้ำมันที่ติดอยู่บนขนแกะซึ่งเหลือจากการสะบัดน้ำ)  จนกระทั้งถึง ปัญจสาขา            (มีลักษณะเป็นปุ่ม ๕ ปุ่ม คือ ปุ่มศีรษะ ๑ ปุ่มแขน ๒ ปุ่มขา ๒ )และมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ      ดังที่ปรากฏในอินทกสูตรว่า มารดาบริโภคอาหารอย่างไร สัตว์ผู้เกิดในครรภ์ก็เลี้ยงชีวิตด้วยอาหารอย่างนั้นในครรภ์มารดาดังนี้

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕