หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมฤทธิ์ อิทฺธิญาโณ (บุตรพรม)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๑ ครั้ง
จริยธรรมที่ปรากฏในหนังตะลุงอีสาน: กรณีศึกษา บ้านสระแก้ว (๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมฤทธิ์ อิทฺธิญาโณ (บุตรพรม) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูศรีปริยัติสุนทร
  รศ.อุดม บัวศรี
  รศ.ดร.เอกฉัท จารุเมธีชน
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

                การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มี วัตถุประสงค์คือ ศึกษาประวัติความเป็นมาของหนังตะลุงอีสานและศึกษาหลักจริยธรรมที่ปรากฏในหนังตะลุงอีสานและอิทธิพลหนังตะลุงอีสานที่มีต่อชุมชนบ้านสระแก้ว ตำบลบ้านฝาง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งประโยชน์ในการอนุรักษ์สืบสานและเผยแพร่ หนังตะลุงอีสาน
              ผลการศึกษาพบว่า หนังตะลุงอีสาน เป็นการละเล่นที่นิยมกันแพร่หลายมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ต้นตอของหนังตะลุงที่เล่นเรื่อง รามเกียรติ์ หรือ รามายณะ นั้นกำเนิดที่ชมพูทวีปหรืออินเดีย เป็นการฟ้อนรำโดยใช้เงาเรียกว่า ฉายานาฏกะ ภายหลังได้รับอิทธิพลจากชวาอินโดนีเซียซึ่งมีการละเล่นของตนเองคล้ายกันเรียกว่า วาหยังกุลิต เล่นเรื่องรามเกียรติ์ และมหาภารตยุทธ ภายหลังได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เข้ามาปะปนจึงเปลี่ยนรูแสดงเป็นเทพในศาสนาพราหมณ์ผสมกับภาพแบบเดิม ที่สำคัญที่สุดเมื่อศาสนาอิสลามเข้าสู่ชวาในราวศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ รูปหนังเดิมของชวาก็เปลี่ยนไป จากนั้นก็แพร่จากชวาผ่านมาเลเซีย แล้วเข้าสู้ภาคใต้แล้วแปรสภาพเข้าสู่หนังตะลุง สำหรับในอีสานนั้นหนังตะลุงใต้เข้ามาในช่วง รัชกาลที่ ๖ เพราะช่วงนี้คนอีสานได้คบค้าสมาคมกับภาคอื่น โดยผ่านกรุงเทพฯ ตลอดทั้งการที่คนอีสานไปทำงานที่
ภาคใต้ ภาคกลาง กรุงเทพฯ หนังตะลุงอีสานจึงเป็นการแสดงที่ได้รับอิทธิพลการแสดงโดยตรงจากหนังตะลุง ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับการแผ่กระจายของวัฒนธรรมอินเดียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังตะลุงอีสานเป็นนวัตกรรมทางวัฒนธรรมที่แพร่กระจายเข้ามาในหมู่บ้านอีสาน รวมทั้ง บ้านสระแก้ว โดยรับเอาศิลปะการแสดงประเภทนี้ ผ่านการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตช่วงทำงานนอกหมู่บ้าน จากนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนการแสดงให้เป็นการแสดงที่มีลักษณะศิลปะการแสดงประจำถิ่นของภาคอีสาน โดยประยุกต์ให้เข้ากับการแสดงหมอลำชาวบ้านสระแก้วกลุ่มหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต โดยการออกเร่แสดงเพื่อหารายได้ในช่วงนอกฤดูทำนาหลักจริยธรรมที่ปรากฏในการแสดงหนังตะลุงอีสานคือ ข้อปฏิบัติของตัวละคร ระหว่างบิดามารดา กับ บุตรธิดา พี่ชาย กับ น้องชาย มิตร กับ มิตร กษัตริย์ กับ เสนาอำมาตย์ ราษฎรสามี กับ ภรรยา และหลักธรรมอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องควบคุมความประพฤติของบุคคลในสังคม ให้ประพฤติปฏิบัติต่อกัน เพื่อความอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เช่น ความเคารพ ความรู้คุณ หลักในการ
ดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การให้ทาน, การรักษาศีล, การทำใจให้บริสุทธิ์, การมีความยุติธรรมเป็นต้น ด้านแนวคิดจริยธรรมที่ปรากฏในหนังตะลุงอีสาน บ้านสระแก้ว พบว่าการแสดงของหนังตะลุงอีสาน เรื่องรามเกียรติ์ มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคุณธรรมและความชอบธรรมมาก่อนสิ่งอื่นใด และอาจลบล้างความเป็นญาติมิตรสหายถ้าหากญาติมิตรนั้นเป็นฝ่ายผิด อย่างเช่นจากพฤติกรรมของพิเภก คนเราจะต้องตั้งอยู่ในธรรม หากพี่น้องญาติวงศ์ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ก็จำต้องตัดญาติขาดมิตร ไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ เพราะธรรมะย่อมสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดใครจะว่าอกตัญญูก็ต้องยอม หากคนไทยเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการถือเอาพิเภกเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติ การเล่นพรรคเล่นพวกในวงราชการก็จะน้อยลง การปกป้องผู้กระทำผิดเพราะเห็นแก่พวกพ้องก็คงจะไม่มี จึงเกิดความเป็นธรรมในสังคม และเกิดความเจริญกว้าหน้า หากคนไทยมัวปกป้องผู้กระทำผิด เพราะเห็นแก่ญาติมิตรแล้ว ประเทศชาติคงอยู่ไม่ได้
และทุกคนควรถือธรรมะเป็นใหญ่ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างไม่เห็นแก่หน้าใคร ยอมให้ถูกตราหน้าว่าเป็นคนเนรคุณ หรือไม่รักญาติมิตร แต่ไม่ยอมให้ถูกตราหน้าว่าไม่มีความเป็นธรรม โดยตระหนักในปรัชญาชีวิตที่ว่า เสียความกตัญญูแต่อย่าเสียธรรม ทำให้ยึดมั่นในหลักพระพุทธศาสนาที่ว่าธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม และธรรมย่อมค้ำจุนโลก

 

 

Download :  255133.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕