หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาเจิม สุวโจ (สุกรรณ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๗ ครั้ง
บทบาทของพระสงฆ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ศึกษาเฉพาะกรณีพระอธิการพงษ์ศักดิ์ เตชธมฺโม
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาเจิม สุวโจ (สุกรรณ์) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๒/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  : พระศรีปริยัติโมลี(สมชัย กุสลจิตฺโต) ป.ธ. ๙, Ph.D. (Phil.)
  : รศ. ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ ป.ธ.๖,Ph.D.(Sociology)
 
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ เมษายน ๒๕๔๓
 
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทพระสงฆ์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ๓ ด้าน คือ ด้านแนวคิดและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในทัศนะของพระสงฆ์และจากหลักฐานทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ด้านกระบวนการอนุรักษ์ และ ด้านบทบาทพระสงฆ์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติลุ่มน้ำแม่สอย แม่ทิม และแม่ป๊อก บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง บ้านแม่สอย ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการวิจัยเอกสารและการวิจัยภาคสนาม จากการวิจัยได้ข้อสรุป ดังนี้

          การวิจัยเอกสาร ได้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกและอรรถกถา พบว่า มีแนวคิดต่อธรรมชาติสองประการ คือ หนึ่ง กฎธรรมชาติที่เป็นปัจจัยสัมพันธ์และมีลักษณะเสมอเหมือนกันของสรรพสิ่ง สอง สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  ทั้ง คน ดิน น้ำ ป่า อากาศ สัตว์ เป็นต้น เป็นสิ่งที่มีวิวัฒนาการร่วมกันมาตามหลักอัคคัญญสูตร และจักกวัตติสูตร มีองค์ประกอบความสมดุล คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต เป็นสิ่งเกื้อกูลในการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา  เป็นสิ่ง รื่นรมย์ และเป็นสิ่งมีอุปการคุณที่ต้องกตัญญูรู้คุณ โดยธรรมชาติทั้งสองต่างมีความสัมพันธ์และ อิงอาศัยกันและกัน นอกจากนี้ ยังพบแนวคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติหลายลักษณะ ได้แก่  มุ่งพัฒนามนุษย์ให้เข้าถึงธรรมชาติ ใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้การปกป้องคุ้มครองทุกชีวิต ทั้งคน พืช สัตว์ หรือแม้แต่จุลชีพ และนอกจากไม่เบียดเบียนไม่ทำลายธรรมชาติแล้วยังปลูกฝังให้มีเมตตาต่อสรรพชีวิต พร้อมกับมีหลักในการใช้สอยทรัพยากรอย่างรู้จักประมาณ ประหยัด นำกลับมาใช้ใหม่ และสอนให้รู้จักลดความต้องการในการบริโภค และยังพบอีกว่า การแสวงหาความสุขของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องบริโภคปัจจัยภายนอกมาก ๆ เสมอไป ตรงกันข้าม การใช้ทรัพยากรน้อย สันโดษ ประหยัด เรียบง่ายกลับแสวงหาความสุขได้มากและยั่งยืนกว่า ดังกรณีพระนันทเถระ เป็นต้น สำหรับแนวคิดต่อธรรมชาติและการอนุรักษ์ของพระอธิการพงษ์ศักดิ์   เตชธมฺโม  เป็นแนวคิดที่เน้นระบบความสมดุลของธรรมชาติ การทำลายภาวะสมดุลเกิดจากสองสาเหตุคือ จิตมนุษย์เสื่อมจากศีลธรรมกับมนุษย์อาศัยอยู่ในที่ที่ไม่สมควรจะอยู่ เช่น ป่าต้นน้ำลำธาร การแก้ปัญหามุ่งไปที่การอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนโดยเน้นการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันระหว่างศีลธรรมกับกฎหมาย

          การวิจัยภาคสนามพบว่า  ด้านกระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าต้นน้ำแม่สอย แม่ทิม และแม่ป๊อก เกิดขึ้นโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ เริ่มต้นจากปัจจัยส่วนตัวของพระอธิการพงษ์ศักดิ์   เตชธมฺโม ที่มีความเมตตากรุณาต่อธรรมชาติและชาวบ้านรอบป่า โดยใช้กระบวนการทางปัญญาแบบอริยสัจจ์ ๔   มีการระดมต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนออกมาใช้ มีการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ จนเกิดการยอมรับและผูกพันของชุมชน  ก่อให้เกิดการเรียนรู้จากเหตุการณ์จริงหรือใช้ความจริงเป็นตัวตั้ง ซึ่งนำไปสู่การบริหารจัดการในรูปองค์กรอนุรักษ์ของท้องถิ่น และการจัดตั้งมูลนิธิธรรมนาถขึ้นมารองรับ จนทำให้การอนุรักษ์และพัฒนากลายเป็นกระบวนการพัฒนาทางจิตวิญญาณที่มีพลัง

          ด้านบทบาทของพระอธิการพงษ์ศักดิ์   เตชธมฺโม  พบว่า มีบทบาทในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่สอย แม่ทิม และแม่ป๊อก ใน ๗ ด้าน โดยบทบาทที่เด่นที่สุด คือ บทบาทการปลูกฝังจิตสำนึก รองลงมาคือบทบาทการเป็นผู้นำ การประสานงาน การป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า การฟื้นฟูสภาพป่า การประชาสัมพันธ์ และการจัดหาทุนดำเนินงานตามลำดับ.
Download : 254302.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕