หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวธัญทิพย์ วิภาพงศ์ศานต์
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๕ ครั้ง
ศึกษาการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานตามแนวทางอริยสัจ ๔ (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวธัญทิพย์ วิภาพงศ์ศานต์ ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ, ผศ.ดร.
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น), ดร.
  อาจารย์รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง ศึกษาการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานตามแนวทางอริยสัจ ๔ นั้น ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการด้วยกัน คือ (๑) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน   (๒) เพื่อศึกษาการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานตามแนวทางอริยสัจ ๔ ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา   (๓) เพื่อศึกษาการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานตามแนวทางอริยสัจ ๔ โรงพยาบาลไทรน้อย  จ.นนทบุรี การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยา ที่มีการวิจัยเชิงเอกสารและการรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก

                     ผลการวิจัยพบว่า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลจะมาด้วยภาวะโรคไม่ติดต่อเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  โรคอ้วน อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมการขาดการดูแลตนเองที่ถูกต้อง ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานแต่ละรายจะมีปัญหาในการดูแลสุขภาพของตนเองแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความเชื่อ ความพอใจ เพศ วัย ภาวะของร่างกายที่แตกต่างกัน ขนบธรรมเนียม ประเพณี เชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงการรับรู้ในเหตุการณ์ต่างๆทั้งภายในและภายนอกตนเอง โดยคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเบาหวาน เป็นผลมาจากการดูแลเอาใจใส่ตนเองของผู้ป่วยเบาหวานแต่ละราย ถ้าผู้ป่วยรายใดสนใจดูแลสุขภาพของตนเองดี ก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าผู้ป่วยรายใดดูแลสุขภาพของตนได้ไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อเป็นโรคเบาหวานนานๆ ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ง่าย  ดังนั้นแนวคิดและพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน จึงมีความสำคัญในการที่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดความตระหนัก ให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง

                   จากการศึกษาการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานตามแนวทางอริยสัจ ๔ ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา  พบว่าอริยสัจ ๔ สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในแง่ของโลกิยะ  และในแง่ของ       โลกุตตระ เพราะอริยสัจ ๔ เป็นหลักของการเชื่อมโยงความจริงในธรรมชาติมาสู่การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงนำมาจัดรูปแบบ  วางระบบไว้ให้  มีความเป็นเหตุ  เป็นผล  ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับความเป็นจริงของทุกข์ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หากบุคคลใดสามารถนำหลักธรรมนี้มาปฏิบัติตามได้ก็จะสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ เกิดภาวะของความสุขกายและสุขใจเข้ามาแทนที่ได้   ซึ่งจะเห็นได้ว่า  อริยสัจ ๔  คือวิธีการแก้ปัญหาชีวิตโดยตรง  และในฐานะที่เป็นวิธีการแก้ปัญหาชีวิต จึงสามารถนำมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานได้ เพราะปัญหาทางด้านสุขภาพ ก็ถือเป็นปัญหาชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง

                จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีการดูแลตนเองในเรื่องของการควบคุมอาหาร รู้จักรายการอาหารแลกเปลี่ยน หรือปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้เข้ากับตนเอง รับประทานยาเม็ดหรือฉีดยา ตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ปรับเปลี่ยนยาเอง ไม่ซื้อยารับประทานเอง มีการสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดระหว่างการได้รับยา การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  พักผ่อนเป็นเวลา มีการดูแลสุขอนามัยส่วน บุคคล เช่น ความสะอาดของร่างกาย ช่องปาก ผิวหนัง ฝ่าเท้า ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษาและเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เมื่อมีการเจ็บป่วยกลับไปพบแพทย์ก่อนวันนัด มีการสวดมนต์ แผ่เมตตา หรือนั่งสมาธิเพื่อให้จิตใจผ่อนคลายจากความทุกข์ หรือความไม่สบายใจต่างๆ  แต่ผู้ป่วยทุกรายก็ไม่สามารถดูแลตนเองได้ทุกวิธีตามที่กล่าวมา แม้ว่าผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถอธิบายหลักของอริยสัจ ๔ ได้ทั้งหมด แต่การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานตามแนวทางอริยสัจ ๔ ก็ได้แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานทุกรายอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานรายใดที่เกิดการตระหนักรู้ มีความสนใจ เข้าใจ เกี่ยวกับการดูแลตนเองมาก และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องตามแนวทางอริยสัจ ๔ ผลการตรวจสุขภาพร่างกายจะออกมาดีและจิตใจก็ไม่เศร้าหมอง

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕