หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระทนง ธมฺมิโก (ปานทอง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๕๐ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการบวชในสังคมไทยปัจจุบัน (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระทนง ธมฺมิโก (ปานทอง) ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, ดร.
  อาจารย์รังษี สุทนต์
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิวัฒนาการ       การบวชในพระพุทธศาสนา  ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการบวชในสังคมไทยปัจจุบัน           ๓) เพื่อศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการบวชในสังคมไทย

                 การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่เป็นทั้งการวิจัยเชิงเอกสาร (Document Research) และการวิจัยภาคสนามโดยวิธีการสัมภาษณ์ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน ๓๘ รูป/คน  แล้ววิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหา  ผลการศึกษาพบว่า การบวชในพระพุทธศาสนาหมายถึง การฝึกฝนหรือการพัฒนาตนด้วยการนำพาตนให้พ้นไปจากภาวะของความเป็นฆราวาส  ดำเนินชีวิตที่ทวนกระแสของกิเลส   พร้อมกันนั้นก็มีการฝึกฝนอบรมตนเองทางกาย วาจาและใจให้สูงยิ่งขึ้นไปจนถึงภาวะของความพ้นทุกข์  การบวชมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ ๓ สมัย กล่าวคือ  สมัยต้นพุทธกาลเป็นการบวชด้วยพระองค์เอง เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา  เมื่อมีกุลบุตรเข้ามาขอบวชมากขึ้น  ภิกษุไม่สามารถนำกุลบุตรไปบวชกับพระพุทธเจ้าเองได้  พระพุทธองค์จึงทรงประทานให้ถึง  ไตรสรณคมน์เป็นการบวชที่เรียกว่า ติสรณคมณูปสัมปทา ต่อมา มีคนจำนวนมากจากหลายท้องที่มาขอเข้าบวช พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในการรับบวช เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา  การบวชลักษณะนี้ พระสงฆ์ได้ยึดถือเป็นแบบแผนจนถึงปัจจุบัน  โดยมีกระบวนการกลั่นกรองผู้บวชตามพระธรรมวินัย

                 ผลการศึกษา ในด้านผู้บวช พบว่า ผู้บวชมีวัตถุประสงค์ในการบวชแตกต่างกัน  และผู้บวชไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบวช   ในด้านผู้รับบวช พบว่า ปัญหากระบวนการกลั่นกรองผู้บวชของพระอุปัชฌาย์มีความหละหลวม  เมื่อบวชเข้ามาแล้วขาดอาจารย์ผู้ให้การแนะนำอบรมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ  เป็นเหตุให้ผู้บวชไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการบวชอย่างแท้จริงได้

            ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาการบวชในสังคมไทย สรุปได้ดังนี้  ๑. ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด  ๒. ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มาขอบวชอย่างละเอียด     ๓. จัดให้มีการศึกษาอบรมทั้งก่อนบวชและหลังบวชโดยมีหลักสูตร  รูปแบบ  และวิธีการอบรม อย่างชัดเจนเป็นแนวเดียวกัน  ๔. พัฒนาสถานที่ และบุคลากรทางพระศาสนาให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ  ซึ่งจะทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้า ดังพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕