หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปลัดสัมฤทธิ์ เทวธมฺโม (เปจิตตัง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๓ ครั้ง
บทบาทภารกิจพระสังฆาธิการผู้ทรงสมณศักดิ์ในจังหวัดขอนแก่นที่มีต่อการพัฒนาสังคมไทย (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระปลัดสัมฤทธิ์ เทวธมฺโม (เปจิตตัง) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสุวิธานพัฒนบัณฑิต
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต
  ดร.ประยูร แสงใส
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง บทบาทภารกิจพระสังฆาธิการผู้ทรงสมณศักดิ์ในจังหวัดขอนแก่น ที่มีต่อการพัฒนาสังคมไทย มีวัตถุประสงค์ ดังนี้คือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของสมณศักดิ์สงฆ์ไทย (๒) เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์คุณสมบัติ และวิธีการในการได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ของสงฆ์ไทย และ (๓) เพื่อศึกษาบทบาทภารกิจในการพัฒนาสังคมของพระสังฆาธิการผู้ทรงสมณศักดิ์ในจังหวัดขอนแก่น งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเอกสาร โดยใช้วิธีวิเคราะห์  เชิงพรรณนา เพื่อหาข้อสรุปและข้อเสนอแนะ

ผลการศึกษาพบว่า ประเพณีพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ของไทยได้รับรูปแบบมาจากศรีลังกา และมีพัฒนาการมาโดยลำดับ ซึ่งมีคุณค่าต่อสังคมไทยในหลายด้าน ดังนี้ (๑) คุณค่าด้านศิลปกรรม ได้แก่ ความงามบนตาลปัตร พัดยศ (๒) คุณค่าด้านจิตใจ ได้แก่ เป็นที่เคารพยำเกรงของชาวบ้าน (๓) คุณค่าวัฒนธรรมด้านภาษา ได้แก่ ราชทินนาม และการใช้ราชาศัพท์ (๔) คุณค่าด้านการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี เช่น เป็นการได้ทรงบำเพ็ญทานของพระมหากษัตริย์ และเป็นการส่งเสริมพระสงฆ์ที่มีความรู้และผลงานแก่สังคมให้ทรงสมณศักดิ์ เป็นต้น (๕) คุณค่าด้านเศรษฐกิจ ทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีรายได้จากการขายเครื่องสังฆภัณฑ์ (๖) คุณค่าด้านสังคม เช่น มีการจัดงานฉลองพัดยศ เป็นต้น (๗) คุณค่าด้านศาสนสัมพันธ์กับนานาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา มีการถวายสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน เช่น ศรีลังกา พม่า บังคลาเทศ เป็นต้น

เกณฑ์คุณสมบัติและคุณวุฒิการศึกษาในการขอพระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่พระสังฆาธิการพบว่า นอกจากพระสังฆาธิการจะมีคุณสมบัติและผลงานตามภารกิจ ๖ ด้านที่มหาเถรสมาคมกำหนดแล้ว ถ้ามีวุฒิการศึกษาเป็นเปรียญธรรม ๗-๙ ขอพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ (สป.)ทุกตำแหน่ง เปรียญธรรม ๕-๖ ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก(ชอ.)และถ้าสำเร็จปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต,ศาสนศาสตรบัณฑิต,ศึกษาศาสตรบัณฑิต,ปริญญาโท ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ(ชพ.) เฉพาะตำแหน่งที่มี  เปรียญธรรม ๓-๔ ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท(จร.ชท.) ถ้าสำเร็จปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต, ศาสนศาสตรบัณฑิต,ศึกษาศาสตรบัณฑิตหรือ ปริญญาโท ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกทุกตำแหน่ง(ชอ.) หรือถ้าสำเร็จปริญญาเอกให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ(ชพ.) เฉพาะตำแหน่งที่มี นอกจากนี้ ถ้าพระสังฆาธิการมีผลงานโดดเด่น ด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ถือเป็นคุณสมบัติพิเศษในการขอพระราชทานสมณศักดิ์

บทบาทตามภารกิจ ๖ ด้าน ที่มีต่อการพัฒนาสังคมไทย พบว่า

ด้านการปกครอง   หลักการปกครองจะมีทั้งพระเดชและพระคุณ สมณศักดิ์มีความสำคัญและจำเป็นต่อการปกครอง ด้านศาสนศึกษา   เกือบทุกวัดจะมีการเรียนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรม บาลี เป็นหลัก วัดที่เจริญจะมีการเรียนการสอนแผนกสามัญศึกษาด้วย พระสังฆาธิการผู้ทรงสมณศักดิ์มี วิธีการส่งเสริมการศึกษา เช่น สนับสนุนปัจจัย ๔ และให้ทุนการศึกษา เป็นต้น ปัญหาการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมในปัจจุบันคือไม่ค่อยมีคนบวช และพระเณรขาดแรงจูงใจในการเรียนนักธรรม บาลี คณะสงฆ์ต้องปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน หลักสูตรและการวัดผลประเมินผลให้ได้มาตรฐานกว่านี้ ผลการจัดการศึกษาคือทำให้ด้บุคลากร ทางศาสนาที่มีคุณภาพ       ด้านการศึกษาสงเคราะห์   มีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และโรงเรียนการกุศลวัดระดับอนุบาล-มัธยมศึกษา การส่งเสริมการศึกษา เช่น มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน เป็นต้น ปัญหาที่พบคือทุนการศึกษายังมีไม่เพียงพอ เจ้าอาวาสแต่ละแห่งต้องจัดกิจกรรมหาทุนทุกปี ด้านการเผยแผ่   รูปแบบการเผยแผ่ เช่น การเทศน์ บรรยายธรรม อบรมศีลธรรมแก่เด็กและเยาวชน เขียนหนังสือธรรมะ เป็นต้น นักเผยแผ่ที่ดีจะต้องยึดองค์แห่งธรรมกถึก ๕ และมีเทคนิควิธีในการแสดงธรรม ด้านสาธารณูปการ   การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุนั้น วัดที่ตั้งอยู่ในชุมชนเมืองจะได้เปรียบ เพราะชาวบ้านมีเศรษฐกิจดี ส่วนวัดที่อยู่นอกตัวเมืองที่ต้องสร้างแบบค่อยเป็นค่อยไป ปัญหาที่พบในการก่อสร้างคือ ขาดทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง และถูกช่างเอารัดเอาเปรียบ พระสังฆาธิการสร้างสิ่งก่อสร้างได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดบ้าง เกินกำหนดบ้าง  เงินก่อสร้าง ได้จากการบริจาคของชาวบ้าน สิ่งก่อสร้างได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ด้านสาธารณประโยชน์   รูปแบบการสงเคราะห์ช่วยเหลือ เช่น การสร้างสะพาน, สร้างโรงเรียน,สถานพยาบาลและอุปกรณ์ บริจาคปัจจัยและสิ่งของแก่ผู้ประสบภัย และผู้ยากไร้ เป็นต้น

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕