หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายสุเมธ โสฬศ
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๕ ครั้ง
การศึกษาเครื่องมือจำแนกจริตที่เหมาะสมในการเจริญสติปัฏฐาน (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นายสุเมธ โสฬศ ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ), ผศ.ดร.
  ดร.อำนาจ บัวศิริ
  ดร.นันทพล โรจนโกศล
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ๓ ประการคือ  (๑) เพื่อศึกษาแนวทางการเจริญสติปัฏฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาเรื่องจริตในในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และ (๓) เพื่อสร้างเครื่องมือจำแนกจริตที่เหมาะสมในการเจริญสติปัฏฐาน

ผลการวิจัยพบว่าสติปัฏฐานเป็นธรรมะที่มีความสำคัญสูงสุดหมวดหนึ่งในพระพุทธศาสนาในฐานะทางเอกสายเดียวที่มุ่งตรงสู่นิพพาน สติปัฏฐานมี ๔ หมวดใหญ่ ๒๑ หมวดย่อย โดยได้รวบรวมแนวทางทั้งหมดในการเจริญสติที่เหมาะกับทุกจริต แม้สติปัฏฐานจะมีหลายหมวด แต่พบว่าการเจริญสติปัฏฐานเพียงหมวดเดียว หรือหมวดย่อยเดียวก็สามารถทำให้บรรลุธรรมได้เช่นกัน จึงไม่จำเป็นที่ต้องทำให้ครบทุกหมวด และพบว่า สติปัฏฐาน ๔ แต่ละหมวดเหมาะสำหรับคน ๔ ประเภทคือ   (๑) คนประเภทตัณหาจริตมีปัญญาไม่แก่กล้า เหมาะกับการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน   (๒) คนประเภทตัณหาจริตมีปัญญาแก่กล้า เหมาะกับการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน   (๓) คนประเภททิฏฐิจริตมีปัญญาไม่แก่กล้า เหมาะกับการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน   (๔) คนประเภททิฏฐิจริตมีปัญญาแก่กล้า เหมาะกับการเจริญ  ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

การจำแนกคนเป็นประเภทต่างๆ ในพระพุทธศาสนานั้น สามารถจำแนกได้ ๓ แนวทางหลักคือ (๑) แนวทางจริต ๖ เป็นการจำแนกเพื่อการเจริญสมถกรรมฐาน (๒) แนวทางจริต ๒ เป็นการจำแนกเพื่อการเจริญสติปัฏฐาน และ (๓) แนวทางอื่นๆ ใช้เพื่อประโยชน์ในการวางแนวทางและวิธีสอนธรรมะ  งานวิจัยพบว่าจริตมีสาเหตุมาจากความเคยชินในอดีต แต่สามารถปรับเปลี่ยนโดยการฝึกฝนได้  กรรมฐานที่เหมาะกับจริตจะต้องทำให้เกิดความสบาย เป็นที่พึงพอใจของผู้ฝึก และเมื่อฝึกแล้วเกิดความสุข ซึ่งเป็นเหตุให้จิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิได้ง่าย และเมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้วย่อมเป็นเหตุให้เกิดปัญญารู้แจ้งธรรมได้ในที่สุด

ผู้วิจัยได้สังเคราะห์ความรู้จากเรื่องสติปัฏฐานและเรื่องจริตนำมาสร้างเครื่องมือจำแนกจริตที่เหมาะสมในการเจริญสติปัฏฐาน โดยมีการสร้างเครื่องชี้วัดขึ้น ๓ ชุดคือ (๑)เครื่องชี้วัดจริต ๒  (๒) เครื่องชี้วัดความแก่กล้าของปัญญา และ (๓) เครื่องชี้วัดจริต ๖ พร้อมทั้งแบบจำลอง หลังจากนั้นได้นำแนวความคิดดังกล่าวไปสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และนำมาปรับปรุงใหม่จนได้เครื่องมือจำแนกจริตที่เหมาะสมในการเจริญสติปัฏฐาน พร้อมแบบทดสอบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติหาแนวทางการเจริญสติปัฏฐานที่เหมาะสมกับตนเองได้ 

ผู้วิจัยแนะนำให้ผู้ปฏิบัติ เลือกเจริญสติปัฏฐานในหมวดที่เหมาะสมกับจริต ๒ และความแก่กล้าของปัญญาของตนที่วัดได้จากเครื่องมือจำแนกจริต  และอาจเสริมด้วยการเจริญ        สมถกรรมฐานที่เหมาะสมกับจริต ๖  และนำสติปัฏฐานมาประยุกต์ใช้เจริญเนืองๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕