หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางพูนสุข มาศรังสรรค์
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๓ ครั้ง
การจัดการความรุนแรงในครอบครัวเชิงพุทธบูรณาการ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นางพูนสุข มาศรังสรรค์ ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ), ผศ.ดร.
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร), ผศ. ดร.
  อาจารย์รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องการจัดการความรุนแรงในครอบครัวเชิงพุทธบูรณาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหา แนวคิด และรูปแบบการจัดการความรุนแรงในครอบครัว (๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การจัดการความรุนแรงในครอบครัวตามแนวพระพุทธศาสนา และ (๓) เพื่อนำเสนอแนวทางในการจัดการความรุนแรงในครอบครัวเชิงพุทธบูรณาการ

ผลการวิจัยพบว่า คนในสถาบันครอบครัวและในสถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้ประโยชน์จากหลักธรรมต่างๆ ในพระพุทธศาสนาเถรวาทโดยการนำมาประยุกต์ร่วมกับแนวทางการดำเนินการของประเทศทางตะวันตก ตะวันออก และประเทศไทย ในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบันเป็นการจัดการความรุนแรงในครอบครัวเชิงพุทธบูรณาการ เพื่อใช้จัดการกับความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีวิธีการและเครื่องมือสำหรับแต่ละปัจเจกบุคคลเริ่มลงมือนำไปจัดการฯ ได้เองอย่างรีบด่วน และหมั่นนำไปปฏิบัติในระยะยาว และแผ่ขยายไปในองค์รวมของสังคม ในมิติของ (๑) การแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่เป็นความก้าวร้าวรุนแรง ให้เป็นความเข้าใจอันดีต่อกัน (Transformation) (๒) การหาทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในระดับต่างๆ รวมถึงการป้องกันมิให้เกิดซ้ำซ้อน (Solution in Terms of Problem Solving and Prevention) และการเยียวยา (Healing) รักษาใจตนให้สงบสันติไปพร้อมๆ กับคนในครอบครัว 

หัวใจสำคัญของการบูรณาการเชิงพุทธเพื่อใช้จัดการความรุนแรงในครอบครัวในงานนี้ คือการเข้าไปจัดการกับฐานของใจในปัจเจก ด้วยการฝึกฝน บ่มเพาะจิตใจให้ตั้งมั่น แน่วแน่ มีสัมมาสมาธิในการปรับปรุงพัฒนาตนให้มีสัมมาทิฏฐิ มีสติสัมปชัญญะอยู่ในปัจจุบันขณะ ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ร้ายต่างๆ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบภายในจิตใจตนเอง ได้แก่ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ เพื่อลด ละ เลิก ความยึดมั่นในตัวตน ความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ ความมักได้ และความไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น อันเป็นสาเหตุแห่งความก้าวร้าวรุนแรงร่วมกับการพัฒนารูปแบบของการดำเนินชีวิตครอบครัวของปัจเจกให้เศรษฐกิจกับจิตใจไปด้วยกันในหลักแห่งความสันโดษ พอเพียงในทางสายกลางอันอุดมด้วยศีล สมาธิและปัญญา (ไตรสิกขา) จากหลักพุทธธรรมต่างๆ ผสานกับการใช้แนวทางดีๆ ของตะวันตกและตะวันออก รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์สูงสุด ปลอดภัยจากความขัดแย้งรุนแรงใดๆ เพราะเมื่อใจของปัจเจกสงบสันติสุขแล้ว ความวุ่นวาย ขัดแย้ง สับสน ไม่ลงรอยในรูปต่างๆ จากใครหรืออะไรก็ตาม ไม่อาจสร้างความกดดันในใจเของเขาให้ประทุเป็นความรุนแรงทางวาจาและทางกายได้อีก ที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ สังคมโดยองค์รวมต้องร่วมสร้างค่านิยมในคุณค่าแท้มากกว่าคุณค่าเทียมในทุกสิ่งที่เกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตครอบครัว ทั้งทางตรงและทางอ้อม

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕