หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาไพทูล อตฺถวํโส (วงศ์อามาตย์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๖ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์การประพฤติวุฏฐานวิธีในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๔๕)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาไพทูล อตฺถวํโส (วงศ์อามาตย์) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาธีรพันธ์ วชิรญาโณ
  พระมหาพล อาภากโร
  ร.ท. ดร. บรรจบ บรรณรุจิ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
 
บทคัดย่อ

                วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาความเป็นมา และสถานการณ์ในปัจจุบันตลอดถึงแนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับการประพฤติวุฏฐานวิธี (การอยู่ปริวาสกรรม) ยันเป็นสังฆกรรมชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้พระภิกษุที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสได้หลุดพ้นจากอาบัตินั้น กลับเป็นภิกษุที่มีความบริสุทธิ์ตามปกติที่มีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพานได้เหมือนภิกษุทั่วไป โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้มุ่งเน้นไปที่ความคลาดเคลื่อนเปลี่ยนแปลงของการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามพุทธประสงค์ดั้งเดิม ซึ่งขอบเขตของการวิจัยนั้นประกอบไปด้วยการศึกษาทางด้านเอกสารและการวิจัยภาคสนาม โดยประชากรกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาได้แก่พระภิกษุที่มาอยู่ปริวาสกรรมที่วัดป่าศุภมิตรสิทธาราม ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างวันที่ ๑-๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยการสัมภาษณ์และให้ตอบแบบสอบถามตามจำนวนที่กำหนดไว้ ๑๕๐ รูป

                จากการศึกษาภาคเอกสารทำให้ทราบว่า การอยู่ปริวาสกรรมในสมัยพุทธกาลนั้นมีวัตถุประสงค์เพียง ๔ อย่างสำหรับคน ๒ ฝ่าย คือ

                ๑. ฝ่ายบรรพชิต มีผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อปฏิบัติศาสนกิจของแต่ละฝ่าย คือ

                                ๑.๑ เพื่อให้คณะสงฆ์ที่เป็นพระอาจารย์กรรมได้แสดงความเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ทางพระวินัยแก่พระภิกษุที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเท่านั้น

                                ๑.๒ เพื่อให้ภิกษุที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสหรือพระลูกกรรมได้มีโอกาสได้ปลดเปลื้องตัวเองจากอาบัตินั้น

                                ๑.๓ เพื่อเป็นการสงเคราะห์แก่ภิกษุณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ๑๗ ข้อ ข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมดที่ต้องการออกจากอาบัตินั้น

                ๒. ฝ่ายคฤหัสถ์ มีผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง คือ

                บุคคลหรือนักบวชนอกศาสนาที่มีความประสงค์จะเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาให้มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจก่อน ซึ่งเรียกว่า คิตถิยปริวาส แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบันการอยู่ปริวาสกรรมบางชนิดแทบจะไม่มีการจัดแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะคิตถิยปริวาสนั้นไม่มีการจัดเลย ทั้งๆที่ขั้นตอนในการปฏิบัติก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรและนักบวชต่างศาสนาก็เข้ามาบวชเป็นจำนวนมาก แต่ปริวาสสำหรับนางภิกษุณีนั้นถือว่าหายสาบสูญไปแน่นอนแล้วเพราะความไม่มีห่งภิกษุณีสงฆ์นั้นเอง ในส่วนที่มีการจัดอยู่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิม มีการจัดกิจกรรมพิเศษเสริมเข้ามา เช่น การจัดให้มีการปฏิบัติธรรม การฟังการบรรยายธรรม การบวชเนกขัมมะ และการหารายได้เข้าวัด เป็นต้น ทำให้เกิดการละลยในหลักการดั้งเดิมไป แต่กลับไปเน้นในหลักการที่รองลงมา โดยเฉพาะการจัดให้มีการปฏิบัติธรรมถือว่าเป็นงานหลักทีเดียว ทำให้ไม่ค่อยสนใจทางด้านปริยัติ และขั้นตอนในการปฏิบัติเอง บางทีก็มีการถกเถียงกันในเรื่องต่างๆ ยากที่จะหาข้อยุติได้

                เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาทางเอกสารจากคัมภีร์หลัก คือ พระไตรปิฎก และอรรถกถา ตลอดถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ผู้รู้ได้แต่งเอาไว้แล้วรวบรวมมาวางไว้เป็นแนวทางที่ชัดเจน จากนั้นก็ลงไปศึกษาภาคสนามและตั้งเป็นประเด็นปัญหาสอบถามกับประชากรกลุ่มตัวอย่างว่า เคยพบเห็นประเด็นปัญหาเช่นนี้หรือไม่ เมื่อประชากรกลุ่มตัวอย่างตอบกลับมาว่าเคยพบเห็นเป็นส่วนมาก แสดงว่า การอยู่ปริวาสกรรมในปัจจุบันนี้มีปัญหาและคลาดเคลื่อนไปจากเดิมจริงและควรทำให้ชัดเจน โดยการแนะนำให้ไปศึกษาค้นคว้าจากหลักวิชาการด้านเอกสารที่นำมาวางไว้แล้วตัดสินปัญหาตามนั้น

                อย่างไรก็ตามเมื่อมองด้วยความเป็นธรรมแล้วการอยู่ปริวาสกรรมแม้จะมีปารเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นอันตรายต่อสังฆกรรมและตัวพระวินัยเอง แต่ในทางพระธรรมนั้นยังถือว่ามีประโยชน์อยู่มากทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ เช่น ฝ่ายบรรพชิตโดยเฉพาะผู้ที่จำพรรษาอยู่ในต่างจังหวัดที่ห่างไกลความเจริญทางด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมและการมีผู้นำในการปฏิบัติธรรม ถือว่า การอยู่ปริวาสกรรมเป็นโอกาสดีที่สุดที่จะได้รับการศึกษาอบรมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ที่บวชใหม่และใคร่จะลาสิกขาออกไป ยิ่งถือว่าเป็นโอกาสสุดท้ายในการปฏิบัติธรรมวินัยในส่วนของพระวินัยนั้นสำคัญมากเพราะไม่แน่ว่าในเวลาที่ผ่านมาอาจต้องอาบัติสังฆาทิเสสก็ได้ เมื่ออยู่ปริวาสกรรมแล้วลาสิกขาออกไปก็จะไม่เป็นบาปกรรมติดตัวไป ส่วนท่านที่ไม่ได้ลาสิกขาก็จะนำประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้จากการร่วมงานปริวาสกรรมมาเป็นผู้นำในการปฏิบัติพัฒนาตัวเองและสังคมต่อไป

                ฝ่ายคฤหัสถ์นั้น การได้มาร่วมงานปริวาสกรรมถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น การบวชเนกขัมมะ การทำบุญกับพระสงฆ์ที่มีจำนวนมากและที่คาดไม่ถึงก็คือ เป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่พ่อค้าประชาชนที่นำสิ่งของเครื่องใช้และยาสมุนไพรมาจำหน่ายในงานด้วย

Download : 254508.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕