หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหานุกูล มหาวีโร (พรหมขันธ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๖ ครั้ง
วิธีคิดเพื่อบรรเทาอกุศลจิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหานุกูล มหาวีโร (พรหมขันธ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ผศ.ทวีศักดิ์ ทองทิพย์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิธีคิดเพื่อบรรเทาอกุศลจิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาวิธีคิดเพื่อบรรเทาอกุศลจิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) กรณีตัวอย่างการคิดเพื่อบรรเทาอกุศลจิต (๓) วิธีการประยุกต์การคิดเพื่อบรรเทาอกุศลจิตในชีวิตประจำวัน ผลจากการวิจัยพบว่า

 

              วิธีคิดเพื่อบรรเทาอกุศลจิต เป็นกระบวนการค้นหาแนวทางความคิด เพื่อบรรเทากิเลส ทำให้อกุศลจิตเบาบาง ลดน้อยลง หรือสามารถระงับไว้ได้อย่างใดอย่างหนึ่งให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้ตั้งไว้ จะก่อให้เกิดผลดีต่อสภาพจิตใจทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นวิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือคิดแบบกุศลภาวนา เพื่อสกัดกั้น บรรเทา และขัดเกลาตัณหา ส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม เป็นเรื่องของการมีสัมมาทิฏฐิ ทำให้ชีวิตไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง และมีความสุขได้ มีอารมณ์ดี สะท้อนถึงสุขภาพจิตที่ดี ด้วยการลดความโลภ โกรธ หลง ซึ่งจากการศึกษากรณีตัวอย่างในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา เกี่ยวกับการคิดเพื่อบรรเทาอกุศลจิต ของประวัติพระเถระ พระเถรี และประวัติของอุบาสกบาสิกาในพระพุทธศาสนา พบว่า กรณีของพระราชบุตร ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสีนั้น เป็นเรื่องของราคะกิเลสที่เกิดขึ้นกับพระราชโอรส ซึ่งเคยเป็นผู้รักษาสัจจะอย่างมั่นคง กับพระนางอสิภูตาผู้เป็นเทวี แต่เมื่อพระราชโอรสเผลอไม่ทันคิดกับอารมณ์ที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุให้ตกอยู่ในอำนาจของราคะ ลุ่มหลงกับเรื่องของกามคุณ ซึ่งเรื่องนี้เป็นคติสอนใจ เกี่ยวกับเรื่องชายหญิงที่ไม่รู้จักพอในกามคุณ ๕ ที่ให้โทษทั้งภพนี้และภพหน้า ขณะเดียวกันในภพนี้ก็ถูกตำหนิ เกิดการทะเลาะวิวาท ทำให้ครอบครัวแตกแยก และแสดงกิริยาความเลวทรามให้แก่ลูกของตนเอง หรืออาจเลยเถิดจนมีการฆ่ากันตายดังกรณีของพระเทวทัตที่เริ่มขัดใจ ไม่พอใจ ผูกอาฆาตในพระพุทธเจ้า ครั้งแรก ได้ทำการยุแหย่ จ้างนายธนูไปลอบยิง ปล่อยช้างตกมันเข้าทำร้าย กลิ้งหินให้ตกจากหน้าผาเขาคิชฌกูฎ และยุยงให้สงฆ์แตกกัน พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนถึงอำนาจความโกรธ ที่สามารถทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ขว้างหน้า เรื่องนี้เป็นลักษณะของการขาดวิธีควบคุมอารมณ์ที่ดี และขาดสติยั้งคิดซึ่งหากย้อนดูอดีตชาติของพระเทวทัตตั้งแต่เริ่มต้นที่เป็นปฐมเหตุของการจองเวร ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของการขาดสติ ขาดวิธีควบคุมอารมณ์ตัวเองทั้งสิ้น กรณีการควบคุมอารมณ์ความหลงนั้นพบว่า มีกรณีศึกษาเรื่องของนางสิริมา ซึ่งกล่าวถึงเรื่องของพระภิกษุที่หลงใหลความงามของนาง ขาดการควบคุมอารมณ์แห่งความหลง และขาดวิธีคิดเกี่ยวกับการบรรเทาอกุศลจิตที่เกิดขึ้น สุดท้ายต้องปล่อยจิตกำหนัดในความยึดมั่นถือมั่นในรูปของนาง ซึ่งเป็นการหลงไม่รู้ตามสภาพความเป็นจริง 

 

            การประยุกต์วิธีคิดเพื่อบรรเทาอกุศลจิตในชีวิตประจำวัน ในระดับโลกิยะนั้น ก็เพื่อดำเนินชีวิตด้วยวิธีคิดที่รู้เท่าทันพฤติกรรมทางกาย รู้เท่าทันเวทนา รู้เท่าทันจิต และรู้เท่าทันธรรม มีหลักเกณฑ์รวมอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ เป็นวิธีคิดที่มีแนวทางของความรู้คิด ด้วยอำนาจของสติที่คอยควบคุมอารมณ์ มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ เพื่อให้มีสติระลึกรู้เท่าทัน โดยเฉพาะที่เป็นเหตุก่อให้เกิดทุกข์ ซึ่งประกอบไปด้วยการมีสติอย่างตั้งมั่นเป็นสติที่รู้เข้าใจตามความเป็นจริง เมื่อมีการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะเมื่อปฏิบัติอยู่ จิตย่อมมีกิจอันควรกระทำอยู่เป็นนิจ จึงไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ เหตุนี้เองจึงต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะเมื่อเวลาปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้เข้าถึงการบรรเทาอกุศลจิตในระดับโลกุตตระ ที่เป็นไปในทางให้ถึงกระแสอันไหลไปสู่พระนิพพาน

              การบรรเทา และ การละอกุศลจิต คือ การปฏิบัติตามหลักธรรมด้วยการให้ทาน เพื่อตัดความตระหนี่ การฝึกคิดตามหลักพรหมวิหารธรรม และฝึกคิดแบบสติปัฏฐานสี่ที่กำหนดรู้กุศลจิตและอกุศลจิตแบบการรู้เท่าทัน ก็เพื่อจะทำให้อกุศลจิตบรรเทาเบาบางลง ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และเพื่อเป็นการส่งเสริมวิธีคิดเพื่อบรรเทา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาแต่คนไทยส่วนใหญ่ ยังคงเป็นปุถุชนและขาดความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ที่จะนำไปปฏิบัติจนสามารถบรรลุอรรถประโยชน์จากการปฏิบัติธรรมได้ เพราะหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ควรที่เราต้องทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติให้รู้ผลจริง อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมต่อไป

 

 

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕