หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปลัดสรสิช ปิยวณฺโณ (มุลทองสุข)
 
เข้าชม : ๒๐๐๖๘ ครั้ง
การศึกษาตีความพุทธศิลป์ที่ปรากฏในพัดยศของพระสงฆ์ไทย (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระปลัดสรสิช ปิยวณฺโณ (มุลทองสุข) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต, ดร.
  พระมหาบาง เขมานนฺโท
  ดร.ประยูร แสงใส
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ ดังนี้ (๑) เพื่อศึกษาพัฒนาการพัดยศของพระสงฆ์ไทย (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดพุทธศิลป์และสุนทรียศาสตร์ (๓) เพื่อศึกษาการตีความพุทธศิลป์ที่ปรากฏในพัดยศของพระสงฆ์ไทย ผลการศึกษาพบว่า  พัดยศสงฆ์ไทยได้มีการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ความเป็นมาของพัดยศยังไม่สามารถที่จะสืบทราบถึงความแน่ชัดได้แต่จากการค้นคว้าพบทางประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของพัดยศที่ปรากฏมาจากตาลปัตร ซึ่งเป็นพัดที่เก่าแก่ที่สุด ทำด้วยใบตาล วาลวีชนี  คือ พัดที่มีด้านข้าง มีทั้งที่ทำด้วยใบตาล ขนนก หรือวัสดุมีค่าอื่น ๆ และจิตรวีชนี คือ พัดอันวิจิตรงดงาม เป็นพัดที่ประดิษฐ์ตกแต่งด้วยสิ่งพิเศษ พัดยศจึงหมายถึง ตาลปัตรหรือพัดที่มีความสวยงามในปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นสี่แบบ ได้แก่ พัดหน้านาง พัดเปลวเพลิง พัดพุดตาน และพัดแฉก ซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระสงฆ์พร้อมกับเครื่องประกอบสมณศักดิ์อื่นๆ เพื่อเป็นสิ่งบอกชั้นยศที่ได้รับพระราชทาน เป็นสัญลักษณ์แห่งการประกาศเกียรติคุณ เป็นขวัญและกำลังใจแก่พระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ และเป็นงานประณีตศิลป์ที่บรรพบุรุษของไทยได้สร้างสรรค์ผลงานไว้เป็นมรดกให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชมความงามอันวิจิตรบรรจง

       พุทธศิลป์ หมายถึง ศิลปะในพระพุทธศาสนาได้กำหนดขอบเขตพุทธศิลป์ที่เกี่ยวกับสุนทรีย์ความงาม ประกอบด้วยเจดีย์ที่เคารพนับถือ บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า มีสี่อย่างคือ ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บริโภคเจดีย์ คือ สิ่งหรือสถานที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรม คือ พุทธพจน์ และอุทเทสิกเจดีย์ คือ พระพุทธรูป, ในทางศิลปกรรมไทย หมายถึง สิ่งที่ก่อเป็นยอดแหลม เป็นที่บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระธาตุ และอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น สุนทรียศาสตร์ หมายถึง วิชาว่าด้วยความงาม ศาสตร์ที่ว่าด้วยความงามโดยเฉพาะว่าด้วยความงามและมาตรฐานในการวินิจฉัยว่า อะไรงาม อะไรไม่งาม

 

        การตีความพุทธศิลป์ที่ปรากฏในพัดยศของพระสงฆ์ไทย เป็นการตีความหมายจากพัดยศ ซึ่งแสดงคุณค่าในแง่ศิลปะเชิงพุทธธรรม เป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าในแต่ละพัดยศตามลำดับชั้นปรากฏตามหลักธรรมที่ผู้วิจัยได้ตีความ ดังนี้

 

               พัดหน้านาง มีลักษณะรูปไข่ ตีความได้ว่าเปรียบเสมือนพุทธธรรมที่แสดงให้เห็นกฎธรรมชาติ เป็นกระบวนการเกิดและการดับของทุกข์ ต้องอาศัยซึ่งกันและกันคล้องจองกันเป็นวงจรไม่มีต้นไม่มีปลาย ดังองค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาท  พัดพุดตาน ใบพัดยศมีลักษณะกลม แต่ริมขอบหยักเป็นแฉกรวมสิบหกแฉก พัดยศชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกลีบดอกบัวบาน หรือดอกพุดตานมีสิบหกแฉกของพัดพุดตานเปรียบเทียบได้กับพุทธธรรมในหัวข้ออุปกิเลสสิบหก เหมือน จิตตอุปกิเลสสิบหก  พัดเปลวเพลิงใบพัดยศมีลักษณะทรงพุ่งข้าวบิณฑ์ ตรงขอบเป็นแฉกด้านละห้าแฉก ลักษณะของเปลวเพลิงได้สะท้อนให้เห็นส่วนประกอบห้าอย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต คือขันธ์ห้า หรือเบญจขันธ์ ส่วนพัดแฉก ใบพัดยศมีลักษณะทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ส่วนล่างเป็นพุ่มเรียวแหลมคล้ายดอกบัว ขอบนอกคล้ายกลีบบัว ที่ประกบแนบอยู่กับดอกมีกลีบอย่างน้อยห้าถึงเก้ากลีบ ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความหมายและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าตามพุทธประวัติ หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้แล้วทรงพิจารณาถึงธรรมะ ที่ได้ทรงตรัสรู้ว่าเป็นธรรมะอันล้ำลึก ยากที่มนุษย์ทั้งหลายจะตรัสรู้ตามได้  จึงเกิดอุปมาเวไนยสัตว์ เหมือน “ดอกบัว” แบ่งปัญญาของมนุษย์เป็นสี่ เหล่า นอกจากนี้พัดแฉกที่มีดอกกลีบเก้ากลีบ ยังแสดงให้เห็นคุณธรรมทางพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักธรรมขั้นสูงซึ่งเรียกว่า โลกุตตรธรรม คือ ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก, สภาวะพ้นโลก มีเก้า ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕