หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูอนุรักษ์บุรานันท์ (บุญชื่น ฐิตธมฺโม)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๓ ครั้ง
ศึกษากระบวนการอนุรักษ์พุทธประติมากรรมหินทราย : กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี) (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูอนุรักษ์บุรานันท์ (บุญชื่น ฐิตธมฺโม) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูศรีรัตนากร, ดร.
  พระครูพิศาลสรกิจ, ดร.
  ผศ.ดร.วันชัย พลเมืองดี
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  ๑)  เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและประเภทของประติมากรรมหินทราย  ๒)  เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เวียง พยาว (วัดลี)  และ ๓)  เพื่อศึกษากระบวนการอนุรักษ์ประติมากรรมหินทรายพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี) ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลในด้านเอกสาร และสัมภาษณ์นักวิชาการผู้รู้

ผลการศึกษาวิจัยประการที่ ๑ พบว่า การสร้างประติมากรรมหินทรายที่เกิดจากภูมิปัญญาของช่างพะเยาทำให้เกิดมีสกุลช่างพะเยาที่มีลักษณะความโดดเด่นในด้านศิลปะ ซึ่งโบราณวัตถุ พุทธประติมากรรมหินทรายมีอายุเก่าแก่ประมาณราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ เพราะเวียงพยาว เป็นแหล่งหินทรายมากมาย ประกอบการใช้หินทรายแกะเป็นพุทธประติมากรรม แสดงถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้าของช่าง และผู้สร้างถวาย

ประการที่ ๒ จากการวิจัยพบว่า แนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี) จุดเริ่มต้นจากพระครูอนุรักษ์บุรานันท์ เจ้าอาวาสวัดลี เจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา เป็นผู้ที่สนใจ
ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองพะเยา
 และได้เก็บสะสมอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ถูกทอดทิ้ง
ตามวัดร้างต่างๆ
ที่ถูกทอดทิ้ง และถูกทำลายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชน  โดย                          พระครูอนุรักษ์บุรานันท์ ได้เริ่มเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ พุทธประติมากรรมหินทราย ไว้ในวัดลีกองรวมกันเอาไว้มากมาย เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายธนเศกษ  อัศวานุวัตร ได้มาเห็น โบราณวัตถุ และพุทธประติมากรรมหินทราย จึงปรารภ ว่าควรหางบประมาณ จัดเก็บโบราณวัตถุ พุทธประติมากรรมหินทรายนี้ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา จึงอนุมัติงบประมาณสนับสนุนในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เวียงพยาวขึ้น

ประการที่ ๓ จากการวิจัยพบว่า การเริ่มเก็บสะสมโบราณวัตถุ พุทธประติมากรรมหินทราย ชั้นแรก ก็ถือว่าเป็นการอนุรักษ์พุทธประติมากรรมหินทรายระดับหนึ่งที่ไม่ได้ถูกทิ้ง และถูกขโมยไป เมื่อทางวัดลีได้รับการสนับสนุนงบประมาณในส่วนภาคเอกชน และรัฐบาล จึงได้มีการจัดเก็บอย่างเป็นหมวดหมู่  รักษาอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ นอกจากนั้น ยังได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการเพื่อให้มีการศึกษาเรียนรู้แก่ผู้สนใจ และมีการอบรมให้ชาวบ้านวัดลีได้เป็นมัคคุเทศก์ และให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในรูปแบบของคณะกรรมการดูแลรักษาพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)

ดังนั้น  พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)  จึงเป็นสถานเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองพะเยา และของประเทศ  อันเกิดจากจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ของชุมชนในพื้นถิ่น   แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างบ้านกับวัดในสังคมไทยว่ามีการเกื้อกูลส่งเสริมกันและกันตลอดเวลา  ยิ่งไปกว่านั้น พลังแห่งชุมชนที่ร่วมกันก่อตั้งและอนุรักษ์พุทธศิลปะหินทรายของพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)  ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อผู้สนใจที่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาของบรรพชนในอดีต ผ่านโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าเหล่านั้น

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕